เมื่อวันที่ 20 ก.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่านายนฤพนธ์ ทิพย์มณฑา ผอ.สำนักป้องกัน ปราบปราม และควบคุมไฟป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชสั่งการให้ชุดปฏิบัติการปราบปรามการกระทำผิดความผิดด้านสัตว์ป่าและพืชป่า (ชุดเหยี่ยวดง) ร่วมดำเนินการตรวจสอบ ภายหลังมีผู้ใช้เฟซบุ๊ก Chayanan Assawadhammanond โพสต์ ขอความช่วยเหลือช้าง 4 เชือก ในฟาร์มจระเข้และสวนสัตว์สมุทรปราการ ซึ่งมีสภาพอดอยาก และเจ็บป่วย ถูกผูกกับหลักยาวนาน จนโซ่บาดลึกเข้าไปในเนื้อข้อเท้า และช้างทุกเชือกมีสภาพทรุดโทรมเป็นอย่างมากนั้น

หลังรับทราบเรื่อง ชุดเหยี่ยวดงได้ร่วมกับ สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 (ศรีราชา) เจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการพิเศษ (พญาไท) กรมปศุสัตว์ และสำนักงานปศุสัตว์ จังหวัดสมุทรปราการ ดำเนินการตรวจสอบการเลี้ยงดูช้างของฟาร์มจระเข้ และสวนสัตว์สมุทรปราการ พบว่า พบช้างทั้งหมด 4 เชือก มีอายุ 25 ปี, 50 ปี และ 21 ปี 2 เชือก โดยช้างทั้งหมดมีลักษณะผอมกว่ามาตรฐาน ซึ่งถือว่าเข้าข่ายความผิดข้อ 4 (3) สัตว์ที่มีเจ้าของหรือผู้ครอบครองให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองต้องดําเนินการ จัดให้สัตว์มีสุขภาพอนามัยที่ดี มีการจัดการในการควบคุมป้องกันโรคที่เหมาะสม และให้การรักษาเมื่อสัตว์ป่วยหรือบาดเจ็บโดยไม่ชักช้า ตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องการจัดการสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2561

ส่วนการตรวจสอบสภาพพื้นที่อยู่อาศัยของช้างพบว่าไม่มีการทำความสะอาดสิ่งปฏิกูลพื้นที่คอกอย่างสม่ำเสมอถือว่าเข้าข่ายความผิดข้อ 4 (2) สัตว์ที่มีเจ้าของหรือผู้ครอบครองให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองต้องดําเนินการ จัดให้สัตว์อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการดําเนินชีวิตและความปลอดภัยของสัตว์ ตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องการจัดการสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2561

อย่างไรก็ตามจากการสอบถามผู้เลี้ยงช้างแจ้งเจ้าหน้าที่ว่าจะมีการให้อาหารเป็นประจำ ได้แก่ หญ้า กล้วย และกากสับปะรด วันละ 2 รอบ เช้า-เย็น และให้น้ำ วันละ 3 เวลา เช้า-เที่ยง-เย็น คณะเจ้าหน้าที่จึงได้แนะนำให้งดการให้กากสับปะรดเนื่องจากจะทำให้ช้างท้องอืด แต่ควรให้หญ้าสดในน้ำหนักที่เหมาะสมกับน้ำหนักตัว และควรให้อาหารเสริมเพิ่มเติมด้วย

จากการตรวจสอบดังกล่าว คณะเจ้าหน้าที่ได้มีความเห็นว่า การที่มีผู้โพสต์ข้อความลงโซเชียลว่าช้างเกิดการบาดเจ็บที่ขาจากโซ่ที่ตรึงที่ขาช้างนั้น ได้มีการสลับโซ่ที่ขาของช้างแล้วและได้มีการรักษาจากสัตวแพทย์ และช้างไม่ได้มีอาการของความเครียดให้เห็นเด่นชัด จึงไม่เป็นการเข้าข่ายการทารุณกรรมสัตว์แต่อย่างใด แต่ได้กำชับกับผู้เลี้ยงว่าควรลดการใส่โซ่ตรึงไว้ที่ขาเป็นเวลานาน เพื่อลดอาการบาดเจ็บ และไม่เป็นการเพิ่มความเครียดให้กับตัวสัตว์ต่อไป

ทั้งนี้ คณะเจ้าหน้าที่ ได้ร่วมกันพิจารณาแล้ว มีความเห็นว่า การเลี้ยงดูช้างทั้ง 4 เชือก ดังกล่าว มีความผิดด้านการจัดการสวัสดิภาพสัตว์ไม่เหมาะสมตาม มาตรา 22 ซึ่งเจ้าของสัตว์ต้องดำเนินการจัดสวัสดิภาพสัตว์ให้แก่สัตว์ของตนให้เหมาะสมตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดตาม พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ โดยมีโทษตามมาตรา 32 เจ้าของสัตว์หรือผู้ใดไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดตามมาตรา 22 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 40,000 บาท

เจ้าหน้าที่จึงได้ทำการเปรียบเทียบปรับ และให้เจ้าของไปเสียค่าปรับที่สำนักงานปศุสัตว์จ.สมุทรปราการภายในระยะเวลา 15 วัน และให้ดำเนินการตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง การจัดการสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2561 อย่างเคร่งครัด ทั้งนี้สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดสมุทรปราการ จะเข้ามาติดตามสวัสดิภาพของสัตว์อีกครั้ง หากไม่ดำเนินการให้แล้วเสร็จ ในระยะเวลาที่กำหนด จะดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมายต่อไป.

ขอบคุณข้อมุลจากเฟซบุ๊ก Chayanan Assawadhammanond