นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 18 ก.ค. ที่ผ่านมา ได้สั่งการให้ กองปฏิบัติการพิเศษและปราบปรามการกระทำความผิดด้านปศุสัตว์ (ชุดปฏิบัติการพิเศษพญาไท) นำโดย นายจิรภัทร อินทร์สุข หัวหน้าชุดฯ นายยศวีร์ ราเชนอรรถวิชญ์ นายวัฒนา ตั้งธนะวัฒน์ นางวัลย์ลยา ศรีบุรินทร์ พร้อมด้วยนายฉัตรชัย ประทุมมาลย์ ผู้อำนวยการกลุ่มคุ้มครอง กองสวัสดิภาพสัตว์และสัตวแพทย์บริการ นายนันทศักดิ์ มุสิกศิลป์ นางสาวศุภิสรา วงศ์สุทธาวาส นายศิริวุฒิ จิวิริยะวัฒน์ นายยุทธภูมิ สืบขำเพชร ผู้อำนวยการส่วนสุขภาพสัตว์ สำนักงานปศุสัตว์เขต 2 นายแก่นเพชร เนียนแนบ หัวหน้ากลุ่มพัฒนาสุขภาพสัตว์ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดสมุทรปราการ

สนธิกำลังร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นำโดย นายพิทักษ์ อินทศร ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2, นายชาลี เม่นขำ หัวหน้าสายตรวจปราบปรามด้านสัตว์ป่าสายที่ 1, ชุดเจ้าหน้าที่เหยี่ยวดง กรมอุทยานฯ และนางสาวกิตติยาภรณ์ เอี่ยมสะอาด นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ กรมอุทยานฯ นำกำลังเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบฟาร์มแห่งหนึ่งในจังหวัดสมุทรปราการ ตามที่มีผู้ร้องเรียน ซึ่งอาจเข้าข่ายความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557

จากการเข้าตรวจสอบพบ นายพอ (นามสมมุติ) ให้ข้อมูลว่า เนื่องด้วยสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ทำให้ฟาร์มจระเข้ฯ ต้องหยุดและปิดกิจการชั่วคราว ทำให้ไม่สามารถจ้างงานควาญช้างต่อได้ มีเพียงนายพอ เพียงคนเดียวที่ดูแลให้อาหารช้าง จำนวน 4 เชือก ประกอบด้วย 1. พลายสมรักษ์ อายุ 21 ปี 2. พลายแบงค์ อายุ 21 ปี 3. พลายบุญมี อายุ 25 ปี 4. พังบุญมี อายุ 50 ปี

จากการตรวจสอบสุขภาพช้างเบื้องต้นโดยสัตวแพทย์กรมปศุสัตว์ และสัตวแพทย์กรมอุทยาน สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ให้ความเห็นร่วมกันว่า ช้างทั้ง 4 เชือกนั้น มี Body Condition Score (BCS) เพียง 2.5 จากคะแนนเต็ม 5 ซึ่งถือว่าเข้าข่ายความผิดตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง การจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2561 ข้อ 4(1)(3)

อีกทั้งเจ้าหน้าที่ยังลงความเห็นว่า ไม่มีการทำความสะอาดสิ่งปฏิกูล ซึ่งถือว่าเข้าข่ายความผิดตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง การจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2561 ข้อ 4(2) จึงได้ดำเนินคดีกับฟาร์มดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 มาตรา 22 โทษมาตรา 32 ปรับไม่เกิน 40,000 บาท โดยให้ไปชำระค่าปรับ ที่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดสมุทรปราการ ภายใน 15 วันทำการ และให้ฟาร์มฯ ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขและจัดสวัสดิภาพช้างให้เหมาะสมภายใน 30 วัน โดยจะมีเจ้าหน้าที่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดสมุทรปราการ เข้ามาตรวจสอบติดตามในทุกสัปดาห์ จนกว่าจะปรับปรุงให้แล้วเสร็จ หากพบภายหลังว่ายังไม่ดำเนินการปรับปรุงให้แล้วเสร็จตามระยะเวลาที่กำหนด เจ้าหน้าที่จะดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป

ขอบคุณภาพจากเฟซบุ๊ก Chayanan Assawadhammanond