เมื่อวันที่ 21 ก.ค. ที่ศูนย์การค้าเอ็มควอเทียร์ นายวุฒิภูมิ จุฬางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวตอนหนึ่งในงาน 18 ปีนกแอร์ Better Experience, Better Smiles ว่า ในปีที่ 19 สายการบินนกแอร์ จะเพิ่มประสบการณ์การเดินทางให้ผู้โดยสารยิ้มกว้างมากขึ้นด้วยบริการใหม่ๆ อาทิ นกแอร์พรีเมียมเคาน์เตอร์ ให้บริการทุกประเภทที่จุดเดียว ทั้งเช็กอิน ซื้อบัตรโดยสาร เปลี่ยนแปลงที่นั่ง และเที่ยวบิน, ระบบความบันเทิงบนเที่ยวบิน, บริการ Pet On Board, เลานจ์นกแอร์ (นกคาเฟ่) และบริการขนมครัวซองต์ Tayaki และเครื่องดื่มร้อนบนเครื่อง เป็นต้น

นายวุฒิภูมิ กล่าวต่อว่า ขณะนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย และรัฐบาลมีการผ่อนคลายมาตรการการเดินทางมากขึ้น สายการบินนกแอร์จึงได้กลับมาเปิดให้บริการเส้นทางบินภายในประเทศครบทุกเส้นทางที่เคยทำการบินเมื่อปี 62 แต่ความถี่เที่ยวบินยังอยู่ที่ประมาณ 80-100 เที่ยวบินต่อวัน ขณะที่ปี 62 ความถี่เที่ยวบินอยู่ที่ประมาณ 140-160 เที่ยวบินต่อวัน ส่วนเส้นทางระหว่างประเทศ เริ่มเปิดให้บริการเส้นทาง ดอนเมือง (กรุงเทพฯ)-ย่างกุ้ง (เมียนมา) และดอนเมือง-โฮจิมินห์ (เวียดนาม) แล้ว โดยในปี 65 ตั้งเป้าหมายว่าปริมาณผู้โดยสารจะอยู่ที่ประมาณ 4 ล้านคน ขณะที่ปี 62 ผู้โดยสารอยู่ที่กว่า 8 ล้านคน ส่วนอัตราบรรทุกผู้โดยสาร (เคบิ้นแฟกเตอร์) อยู่ที่ประมาณ 85%

นายวุฒิภูมิ กล่าวอีกว่า ตลอด 18 ปีที่ผ่านมา สายการบินนกแอร์มีฐานการบินหลักอยู่ที่ท่าอากาศยานดอนเมือง (ทดม.) และบางครั้งอยู่ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ซึ่งในเดือน ส.ค.65 จะเปิดฐานการบิน (ฮับ) ใหม่ที่ท่าอากาศยานเชียงใหม่ เพื่อรองรับการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบิน และเพิ่มทางเลือกในการเดินทางให้แก่ผู้โดยสาร โดยในปี 65 สายการบินนกแอร์ มีแผนเปิดเส้นทางบินใหม่ อาทิ เชียงใหม่-กรุงเทพฯ (สุวรรณภูมิ), เชียงใหม่-นครราชสีมา, เชียงใหม่-สิงคโปร์, เชียงใหม่-ไต้หวัน, เชียงใหม่-ดานัง (เวียดนาม), เชียงใหม่-เมียนมา และเชียงใหม่-ญี่ปุ่น (อยู่ระหว่างศึกษา)

นายวุฒิภูมิ กล่าวต่อว่า ส่วนฮับกรุงเทพฯ จะเปิดเส้นทางบินใหม่ อาทิ ดอนเมือง-ดานัง, ดอนเมือง-พาราณสี (อินเดีย) และดอนเมือง-จีน อยู่ระหว่างเตรียมแผนเปิดบินในหลายๆ เมือง ทั้งนี้ในปลายปี 65 จนถึงปี 66 สายการบินนกแอร์จะทยอยรับมอบเครื่องบินโบอิ้ง B737-800 จำนวน 6 ลำเข้าประจำฝูงบิน นอกจากนี้ยังเตรียมจัดหาเครื่องบินอีก 6 ลำ กับบริษัทโบอิ้ง ซึ่งก่อนหน้านี้เตรียมซื้อเครื่องบินโบอิ้ง 737 MAX ไว้ แต่ปัจจุบันอยู่ระหว่างเจรจาปรับเปลี่ยนรุ่นเครื่องบิน โดยการจัดหาเครื่องบินส่วนนี้จะดำเนินการภายหลังสายการบินนกแอร์ออกจากการฟื้นฟูกิจการในปี 69

นายวุฒิภูมิ กล่าวด้วยว่า จากแผนการเพิ่มฝูงบิน เพิ่มความถี่ เปิดเส้นทางบิน และขยายฮับการบินใหม่ ทำให้นกแอร์มั่นใจว่าปี 66 จะสามารถผลักดันผลประกอบการถึงจุดคุ้มทุน (Break Even) หรือสามารถหยุดขาดทุนได้ ก่อนจะทำกำไรในปี 67 ซึ่งเป็นไปตามแผนที่ระบุไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการฯ ส่วนความคืบหน้าการฟื้นฟูกิจการฯ นั้น ขณะนี้เจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์ได้ตรวจสอบ และยืนยันตัวเลขหนี้แท้จริงอยู่ที่ราว 5.8 พันล้านบาท โดยที่ผ่านมานกแอร์ทยอยชำระหนี้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งปี 66 เตรียมกู้เงินเพิ่มอีก 600 ล้านบาท เพิ่มนำมาชำระค่าเครื่องบินโบอิ้ง 737-800 ที่จะรับมอบ รวมถึงบริหารสภาพคล่องทางธุรกิจ คาดว่าจะสามารถดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการแล้วเสร็จในกรอบ 5 ปี หรือปี 69.