เมื่อเวลา 20.20 น. วันที่ 21 ก.ค. ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วาระพิจารณาญัตติขอเปิดการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 151 ซึ่งมีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ เป็นประธานในที่ประชุมนั้น นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม กล่าวชี้แจงต่อกรณีที่ น.ส.จิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย อภิปรายเรื่องบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด ประเทศออสเตรเลีย ฟ้องประเทศไทย ภายหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. สั่งปิดเหมืองทองของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ว่า นายกรัฐมนตรีได้ใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ในการตรวจสอบข้อมูลต่างๆ อย่างรอบคอบเป็นเวลาเกือบ 3 ปี ก่อนที่ท่านจะออกคำสั่งตามมาตรา 44 ตามข้อเสนอของกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นการทำเพื่อความปลอดภัยในชีวิตและสุขภาพของประชาชนเป็นสำคัญ โดยไม่ได้เอื้อประโยชน์ใคร อีกทั้ง กรณีที่ น.ส.จิราพร อ้างว่า เห็นเอกสารของกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงพาณิชย์ ที่ทักท้วงนายกรัฐมนตรีเรื่องการออกคำสั่งตามมาตรา 44 แต่นายกฯ ไม่รับฟังนั้น น.ส.จิราพร พูดความจริงแค่ครึ่งเดียว เพราะในเอกสารนี้มีข้อความที่ระบุด้วยว่า หากมีความจำเป็นต้องบังคับใช้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 จะต้องเป็นไปเพื่อการป้องกันและรักษาไว้ซึ่งสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ ซึ่งกรณีของเหมืองดังกล่าวเข้าข่าย เพราะเป็นการออกคำสั่งที่คำนึงถึงสุขภาพของประชาชน 

รมว.อุตสาหกรรม กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่ น.ส.จิราพร อ้างว่าบริษัท เออาร์เคเอส ที่เป็นทนายความของฝ่ายไทย ประเมินว่าฝ่ายไทยแพ้คดีดังกล่าวแน่นอนนั้น ตนยืนยันว่าไม่จริง เพราะหนังสือของบริษัท เออาร์เคเอส เป็นหนังสือที่ตนเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อรายงานสถานการณ์ ซึ่งทนายความของฝ่ายไทยประเมินว่าฝ่ายไทยมีโอกาสชนะ 66 เปอร์เซ็นต์ แพ้ 34 เปอร์เซ็นต์ ไม่ใช่แพ้คดีแน่นอน แต่ถ้าบริษัท คิงส์เกตฯ มีโอกาสชนะ100 เปอร์เซ็นต์ และจะได้ค่าเสียหาย 30,000 ล้านบาท เขาคงไม่มาเจรจารัฐบาลไทย เพราะที่ผ่านมา บริษัทนี้มีกำไรปีละ 800 ล้านบาท ต้องใช้เวลา 38 ปี เขาจึงได้เงิน 30,000 ล้านบาท ดังนั้นถ้าเขาคิดว่าชนะแน่ คงไม่เจรจากับเรา  อย่างไรก็ตาม หลังจากบริษัท คิงส์เกตฯ เห็นข้อต่อสู้ของฝ่ายไทย เขาจึงเข้าใจถึงสิ่งที่ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎมายแร่ฉบับใหม่ นโยบายทองคำ และมาตรการต่างๆ ที่สร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในพื้นที่มากขึ้น ทำให้บริษัท อัคราฯ กลับมาดำเนินการขอประทานอาชญาบัตรพื้นที่ 44 แปลง เนื้อที่ประมาณ 400,000 ไร่ ซึ่งเขาเคยยื่นไว้แล้วเมื่อปี 2546-2548 ส่วนคำขออาชญาบัตรแร่อีก 600,000 กว่าไร่นั้น ปัจจุบันบริษัทนี้ยังไม่ได้เดินเรื่องยื่นขอ และยังไม่ได้รับอนุญาตใดๆ แต่ถ้ามาเดินเรื่อง ก็ไม่ได้หมายความว่าจะได้รับอนุญาต เพราะต้องดูแผนการสำรวจของบริษัทนี้มีความเหมาะสมหรือไม่ และถ้ามีการต่อต้านจากประชาชนในพื้นที่ เราก็ไม่สามารถอนุญาตให้ได้เช่นกัน

นายสุริยะ กล่าวว่า การที่ น.ส.จิราพร ระบุว่าสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) มีหนังสือทักท้วงและเสนอให้ยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช. แต่นายกฯ ไม่ฟังนั้น ตนขอชี้แจงว่ากระทรวงอุตสาหกรรมไม่เคยได้รับหนังสือดังกล่าว แต่เท่าที่เห็นรูปแบบของเอกสารที่ น.ส.จิราพร นำมาแสดงบนภาพสไลด์ในที่ประชุมสภาฯ นั้น น่าจะเป็นหนังสือบันทึกข้อความซึ่งส่งกันในหน่วยงาน ไม่ใช่หนังสือทางการที่ออกจาก อสส. เพราะถ้าเป็นหนังสือทางการ ต้องมีตราครุฑอยู่บนเอกสาร และหนังสือดังกล่าวถูกส่งถึงประธานคณะทำงาน ซึ่งตนไม่ทราบว่าเป็นคณะทำงานชุดใด แต่ไม่ใช่หนังสือที่ถูกส่งถึงนายกรัฐมนตรี ตนจึงสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นหนังสือหารือภายในหน่วยงานที่ยังไม่มีข้อยุติ และ อสส.มีผู้แทนอยู่ในคณะกรรมการระงับข้อพิพาทอยู่แล้ว และคณะกรรมการนี้ไม่เคยเสนอให้ระงับการออกคำสั่งหัวหน้า คสช. นอกจากนี้ การที่ น.ส.จิราพร อ้างว่ามีไอ้โม่ง 2 คน อยู่เบื้องหลังสั่งการ ทั้งที่ไม่ใช่คณะทำงานแก้ปัญหานั้น ตนคาดว่า น.ส.จิราพรคง หมายถึงนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ และนายอุตตม สาวนายน อดีต รมว.อุตสาหกรรม ซึ่งการที่มีทั้ง 2 คน ให้คำปรึกษาที่เป็นประโยชน์เป็นผลดีต่อการดำเนินการของฝ่ายไทย ไม่ได้ทำให้เสียประโยชน์หรือแทรกแซงอะไร