“ในอดีตป่าชายเลนมีเป็นพันไร่ แต่โรงเผาถ่านมีมากกว่าสิบแห่ง ป่าก็เริ่มหมดสภาพ พอหลังปี 2540 รัฐยกเลิกสัมปทานห้ามตัดไม้เผาถ่าน ชาวบ้านไม่รู้จะทำอะไรเลยหันมาทำเตาเผาถ่านกันเอง ทำให้ป่าชายเลนยิ่งเสื่อมโทรมหนัก ต้นโกงกางแต่ละต้นสูงไม่ถึง 2 เมตร เพราะโดนตัดหมด ยิ่งนายทุนนากุ้งเริ่มเข้ามาซื้อที่ดินก็ยิ่งรุกป่าชายเลน บางคนซื้อที่ดิน 5 ไร่แต่บุกป่าชายเลนไป 20-30 ไร่ จากสิบเจ้าเป็นร้อยเจ้า ป่าก็เลยหมดสภาพ สัตว์น้ำอะไรก็ไม่ค่อยมี ชาวบ้านก็ยิ่งลำบาก” นายสมาแอ หวังสง่า หัวหน้าประธานกลุ่มชุมชนประมงท้องถิ่น กลุ่มรักษ์ปลาเก๋าบ้านควนต่อ เล่าให้เราฟังถึงชีวิตความเป็นอยู่และสภาพป่าชายเลนของบ้านควนต่อในอดีตที่หม่นหมองไม่ต่างจากคราบเขม่าของควันไฟที่พวยพุ่งมาจากเตาเผาถ่าน

นายสมาแอ หวังสง่า หัวหน้าประธานกลุ่มชุมชนประมงท้องถิ่นกลุ่มรักษ์ปลาเก๋าบ้านควนต่อ

ป่า ‘เปลี่ยน’ ชีวิต

จนกระทั่งในปี 2548 ชาวบ้านในชุมชนบ้านควนต่อ หันมาร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ปลูกป่าชายเลนเพื่อเป็นป่าชุมชนจำนวน 500 ไร่ โดย กฟผ. สนับสนุนงบประมาณในการปลูกและบำรุงรักษาอีก 5 ปี เพื่อเป็นการสร้างรายได้ให้กับชุมชนหันมาร่วมกันปลูกและดูแลรักษาป่า ซึ่งคนในชุมชนบางส่วนจะช่วยกันเก็บลูกโกงกางมาเพาะ บ้างก็จะช่วยกันสางป่า ระดมแรงกันปลูกป่า โดยมีเจ้าหน้าที่จากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งมาให้ความรู้เรื่องการปลูกและดูแลรักษาป่าชายเลน ส่วน กฟผ. ก็ส่งเจ้าหน้าที่มาลงพื้นที่ร่วมกับชาวบ้านและติดตามการเติบโตของป่าที่ปลูก ควบคู่กับการส่งเสริมอาชีพทั้งการทำกระชังปลาและปล่อยพันธุ์ปลา ทำแบบนี้ตลอดระยะเวลา 6 ปี จนป่าชายเลนในตำบลคลองเขม้าไม่เพียงเติบโตอยู่รอดได้ แต่ระบบนิเวศและทรัพยากรสัตว์น้ำก็กลับมาอุดสมบูรณ์ ทำให้คนในชุมชนฟื้นตัวได้อีกครั้ง

“หลังจากเราได้ปลูกป่าความอุดมสมบูรณ์ของป่าชายเลนดีมาก ต้นโกงกางสูง 16-17 เมตร ทรัพยากรในป่าชายเลนก็มากขึ้น โดยเฉพาะปูดำ หอยจุ๊บแจง ชาวบ้านได้ประโยชน์เยอะ อย่างปูดำกิโลกรัมละ 300 บาท จับได้วันละ 8-10 กิโลกรัม ส่วนหอยจุ๊บแจงกิโลกรัมละ 100 บาท ก็จับได้วันละ 6-7 กิโลกรัม และยังมีรายได้จากการท่องเที่ยวพาเยี่ยมชมป่าชายเลนด้วย ทำให้ชาวบ้านมีรายได้มากขึ้น อุดมสมบูรณ์ไปทุกอย่าง” สมาแอ เล่าให้เราฟังด้วยรอยยิ้ม

ความร่วมมือร่วมใจของชุมชนและ กฟผ. ทำให้นับตั้งแต่ปี 2546 จนถึงปัจจุบัน สามารถเพิ่มพื้นที่ป่าบกและป่าชายเลนให้กับจังหวัดกระบี่แล้วรวมกว่า 4,500 ไร่ ช่วยเพิ่มพื้นที่แหล่งอาหารและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของชุมชนอย่างยั่งยืน

คลังความสุขจากป่าชายเลน

นอกจากความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์น้ำที่เพิ่มขึ้นแล้ว ป่าชายเลนยังเปรียบเสมือนคลังความสุขของคนในชุมชนอีกด้วย

“ป่าชายเลนมีประโยชน์หลายอย่าง ยอดโกงกางก็กินได้ เป็นยาสมุนไพรอย่างน้ำต้มต้นแก้มหมอเลหรือเหงือกปลาหมอใช้อาบช่วยแก้คันแก้แพ้ ส่วนลำต้นใช้ทำเสาบ้าน ทำกระชังปลาได้อีกหลายอย่าง” สมาแอ กล่าวทิ้งท้าย

การพลิกฟื้นป่าชายเลนของชุมชนบ้านควนต่อไม่เพียงทำให้ทุกคนสามารถก้าวข้ามวิกฤตปากท้องและสิ่งแวดล้อมในอดีตเท่านั้น แต่ยังช่วยยกระดับเศรษฐกิจชุมชนและเป็นแบบอย่างของการสร้างความสมดุลระหว่างคนกับป่าให้อยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน

ปัจจุบัน กฟผ. ยังเดินหน้าโครงการปลูกป่าล้านไร่อย่างมีส่วนร่วม เพื่อพลิกฟื้นผืนป่าทั้งป่าอนุรักษ์ ป่าชายเลน ป่าชุมชน และป่าเศรษฐกิจ รวม 1 ล้านไร่ ภายในระยะเวลา 10 ปี ทั้งนี้ หากหน่วยงานใดสนใจร่วมโครงการปลูกป่าล้านไร่กับ กฟผ. สามารถติดต่อประสานงานได้ที่ฝ่ายบริหารด้านการใช้ไฟฟ้าและกิจการเพื่อสังคม กฟผ. โทร 08 2337 5040