เว็บไซต์วารสาร ‘Current Biology’ ได้เผยแพร่กรณีศึกษาฉบับหนึ่งเมื่อวันที่ 14 ก.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งระบุถึงข้อสันนิษฐานใหม่จากซากฟอสซิลที่ทีมงานขุดพบอาจเป็นซากกระดูกของมนุษย์ที่เกี่ยวข้องทางสายเลือดกับชนเผ่าพื้นเมืองของสหรัฐ โดยเป็นชนเผ่าที่เกี่ยวข้องกับเชื้อสายฝั่งมารดาที่สาบสูญไปแล้ว

ทีมวิจัยได้นำข้อมูลจีโนม (Genome) หรือข้อมูลทางพันธุกรรมที่จำเป็นทั้งหมดของสิ่งมีชีวิตในรูปของดีเอ็นเอ ที่ได้จากกระดูกที่ขุดพบ มาเปรียบเทียบกับข้อมูลดีเอ็นเอของมนุษย์ทั่วโลก ซึ่งปรากฏออกมาว่า มีความเข้ากันหรือตรงกันกับมนุษย์ที่มีเชื้อสายสืบทอดมาจากบรรพบุรุษที่เป็นชาวเอเชียตะวันออก

ก่อนหน้านี้ราว 30 ปีก่อน ทีมงานโบราณคดีเคยพบซากกระดูกที่กลายเป็นฟอสซิลในมณฑลยูนนาน ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศจีน ซึ่งหลังจากตรวจสอบด้วยวิธีการคำนวณอายุจากปริมาณคาร์บอนที่หลงเหลืออยู่ ก็ประเมินได้ว่าซากกระดูกเหล่านี้มีอายุเก่าแก่ถึง 14,000 ปี มาจากยุคไพลสโตซีนตอนปลาย ซึ่งเป็นยุคที่มนุษย์เริ่มออกเดินทางและอพยพไปอยู่อาศัยในพื้นที่ส่วนต่าง ๆ ของโลก 

แต่ทีมงานต้องรอจนถึงปี 2561 จึงสามารถสกัดเอาดีเอ็นเอจากกะโหลกศีรษะมนุษย์โบราณเหล่านี้ และนำมาถอดรหัสทางพันธุกรรมเพื่อค้นหาหลักฐานว่าเจ้าของกะโหลกศีรษะเป็นมนุษย์จากชนเผ่าที่สูญพันธุ์ไปแล้ว ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของมนุษย์ยุคปัจจุบันที่อาศัยอยู่ในแถบเอเชียตะวันออก, คาบสมุทรอินโดจีนและเกาะต่าง ๆ ทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และน่าจะเป็นบรรพบุรุษของมนุษย์ในยุคปัจจุบันมากกว่ามนุษย์นีแอนเดอร์ทัล ตามข้อสันนิษฐานเดิม ๆ แม้ว่าลักษณะทางกายภาพจะมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก

ทีมงานเดียวกันนี้ยังเสนอความเป็นไปได้ว่า อาจมีกลุ่มคนในยุคโบราณจากดินแดนเอเชียตะวันออกที่เดินทางขึ้นเหนือ ผ่านเส้นทางเลียบชายฝั่งซึ่งปัจจุบันคือภาคตะวันออกของจีน ผ่านเกาะญี่ปุ่นและไปถึงเขตไซบีเรีย จากนั้นจึงข้ามช่องแคบแบริ่งที่อยู่ระหว่างทวีปเอเชียกับทวีปอเมริกาเหนือและกลายมาเป็นบรรพบุรุษของมนุษย์ในดินแดนแถบนั้น

ก่อนหน้านี้ก็มีการค้นพบซากร่างของเด็กทารกจากพื้นที่ขุดค้นทางโบราณคดีในอลาสกาเมื่อปี 2556 ซึ่งกลายเป็นหลักฐานว่า ชนเผ่าพื้นเมืองของสหรัฐรุ่นปัจจุบันหรือ ‘อินเดียนแดง’ นั้นสืบเชื้อสายมาจากมนุษย์จากเอเชีย ส่วนกรณีศึกษาครั้งใหม่นี้ช่วยตีวงให้แคบลงว่า บรรพบุรุษที่เป็นต้นกำเนิดของชาวอินเดียนแดงนั้นมาจากภูมิภาคไหนของเอเชีย

ปิงซู่ ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมงานและทีมผู้เขียนรายงานวิจัยฉบับนี้อธิบายว่า ข้อมูลที่ได้มาช่วยเพิ่มเติมความสมบูรณ์ของภาพรวมเกี่ยวกับการเดินทางเพื่ออพยพหาที่อยู่อาศัยของบรรพบุรุษของมนุษย์ รวมทั้งยังมีข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของมนุษย์เผ่าพันธุ์ต่าง ๆ ระหว่างที่ต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ตามเวลาที่ผ่านไป เช่น สีผิวที่แตกต่างจากเดิม เมื่ออยู่ในสภาพที่ต้องเผชิญกับแสงแดดจัดมากกว่าในถิ่นที่อยู่เดิม

แหล่งข่าว : phys.org

เครดิตภาพ : Xueping Ji