เมื่อวันที่ 22 ก.ค.ที่ห้องประชุมมุกหลัง ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต หลังใหม่ นายพิเชษฐ์ ปาณะพงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วย นายแพทย์กู้ศักดิ์ กู้เกียรติกูล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต นายแพทย์วีระศักดิ์ หล่อทองคำ ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต พล.ต.ต.เสริมพันธุ์ ศิริคง ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต ร่วมกันแถลงข่าวกรณีพบผู้ป่วยฝีดาษวานรรายแรกที่จังหวัดภูเก็ต ผู้ป่วยรายดังกล่าว เป็นเพศชาย สัญชาติไนจีเรีย อายุ 27 ปี อาชีพนักธุรกิจ มีประวัติเดินทางมาจากประเทศไนจีเรีย นั้น

ภูเก็ตเร่งแกะรอย ชายไนจีเรียป่วยฝีดาษลิง หลบหนีการรักษา ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 6 ราย 

นายแพทย์กู้ศักดิ์ กู้เกียรติกูล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต เปิดเผยว่า timeline ของผู้ป่วยรายนี้ เริ่มเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยทางสำนักสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต ได้รับแจ้งจากโรงพยาบาลเอกชนว่า มีเคสสงสัย ให้ข้อมูลการว่ามีไข้ ไอ เจ็บคอ น้ำมูก มีผื่นแดง ตุ่มนูนแดง ตุ่มหนอง เริ่มจากอวัยวะเพศลามไปใบหน้า ลำตัว แขน เก็บตัวอย่างส่งตรวจหาเชื้อก่อโรค มีประวัติสัมผัสนักท่องเที่ยวในสถานบันเทิงที่ป่าตองใน 2-3 สัปดาห์ก่อนป่วย พร้อมทั้งให้ประวัติมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ปลอดภัย (กับเพศหญิงไม่สามารถระบุสัญชาติได้) โดยในวันที่ 18 กรกฎาคม ทราบผล Lab ตรวจ PCR พบเชื้อ Monkeypox virus โดยห้องปฏิบัติการที่คณะ

แพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และต่อมาวันที่ 19 กรกฎาคม ทราบผล Lab ยืนยันโดยห้องปฏิบัติการกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์  อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยรายนี้ปฏิเสธการให้ข้อมูลส่วนบุคคลทั้งอาชีพและข้อมูลการเดินทาง รวมถึงปฏิเสธการเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล ขณะที่ การสอบสวนโรคมีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 17 คน เบื้องต้นกลุ่มแรก 7 คน ไม่พบเชื้อ ขณะที่อีก 10 คน อยู่ระหว่างรอผลและกักตัวเพื่อเฝ้าดูอาการ

ทางด้าน พล.ต.ต.เสริมพันธุ์ ศิริคง ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ผู้ป่วยรายนี้ ได้หลีกเลี่ยงการเปิดประวัติส่วนบุคคล ทั้งการเดินทาง และอาชีพ และหลบหายไปจากที่พัก เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม ช่วงเวลา 21.00 น. เบื้องต้นทราบว่าผู้ป่วยรายนี้เป็นนักท่องเที่ยวที่ ไม่ได้อายุ VISA จึงกลายเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่ม overstay ขณะนี้อยู่ระหว่างการติดตามตัว โดยปิดทุกช่องทางเข้าออกของจังหวัดภูเก็ต ทั้งนี้ เมื่อติดตามตัวได้แล้วจะเฝ้าระวังอาการตามขั้นตอนทางการแพทย์และดำเนินการตามกฎหมายจากการพำนักแบบ overstay

นายแพทย์วีระศักดิ์ หล่อทองคำ ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต กล่าวว่า จากข้อมูลทางการแพทย์ โรคฝีดาษวานรจะมี  2 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์ West African เป็นสายพันธุ์ที่ไม่รุนแรง อีกสายพันธุ์คือ Central African เป็นสายพันธุ์ที่มีความรุนแรงกว่า อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยรายนี้ พบเชื้อยืนยันเป็นสายพันธุ์ West African และไม่ได้แพร่เชื้อได้ง่ายเหมือนโรคโควิด -19 ทั้งนี้ ให้เฝ้าสังเกตอาการ หากมีไข้ ต่อมน้ำเหลืองโต และเป็นผื่น ตุ่มใสหรือตุ่มหนอง และฝากถึงนักท่องเที่ยวและประชาชนว่า ยังคงสามารถเดินทางท่องเที่ยวเข้ามาในจังหวัดภูเก็ตได้ตามปกติ ไม่ต้องตื่นกลัวหรือตื่นตระหนก และการดูแลป้องกันตนเองตามมาตรการ 2U เป็นการป้องกันเชื้อโรคได้ดีที่สุด