เมื่อวันที่ 5 ส.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข แถลงสถานการณ์เตียงเพื่อรองรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ผ่านเพจ “กระทรวงสาธารณสุข” ว่า สถานการณ์เตียงทั่วประเทศ ยกเว้นกรุงเทพมหานคร มีเตียงรวม 156,189 เตียง ปัจจุบันใช้ไป 114,786 เตียง คิดเป็น 73.49% เตียงว่าง 41,185 เตียง ส่วนจะขยายเพิ่มได้หรือไม่นั้น ต้องแยกออกเป็น 3  กลุ่ม คือ 1.เตียงสีเขียว ถ้าไม่นับในปริมณฑล เขตสุภาพที่ 4-6 และภาคตะวันออก พบว่า เขตสุขภาพที่ 3-4 มีการครองเตียงสูงขึ้นประมาณ 70% เขตสุขภาพที่ 11 เพิ่มขึ้น 62% เขตสุขภาพที่ 1 เพิ่ม 52% และเขตสุขภาพที่ 2 เพิ่ม 62% ส่วนเขตสุขภาพที่ 12 ซึ่งมีการระบาดโรคโควิดค่อนข้างมากการครองเตียงอยู่ที่ 74%  

นพ.ธงชัย กล่าวว่า ทั้งนี้การขยายเตียงสีเขียวไม่ยาก มีโอกาสจัดการได้ เช่น การแยกกักที่บ้าน หรือในชุมชน รพ.สนาม ส่วนเตียงสีเหลือง มีความยาก จึงใช้ รพ.ชุมชน (รพช.) กว่าที่มีกว่า 800 แห่งทั่วประเทศ จังหวัดที่มีผู้ป่วยมากขึ้นก็ใช้ รพช. 1 แห่งทำเป็น รพ.โควิด และใช้บุคลากรหลายๆ รพ.มาช่วยกันดูแล แต่ส่วนที่ยากคือเตียงสีแดง เพราะต้องใช้ออกซิเจน บางคนต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ซึ่งปกติเรามีคนไข้หนักที่ป่วยด้วยโรคอื่นๆ อยู่ในไอซียูอยู่แล้วจำนวนหนึ่ง อย่างไรก็ตามเนื่องจากการระบาดโควิดในปี 63 และซาลงเมื่อกลางปี รพ.หลายแห่งมีการพัฒนาตัวเอง จากที่มีห้องแยก มีไอซียูจำกัด ตอนนี้ รพ.ศูนย์ (รพศ.) บางแห่งพัฒนามีเพิ่มกว่า 50 เตียง

“ตอนนี้ยังมีความสามารถอยู่ แต่อัตราครองเตียงก็สูง 75% ยังเหลืออยู่บ้างราวๆ 1 พันกว่าเตียง ขึ้นอยู่กับว่าอยู่ในเขตไหน เช่น บางเขตฯ อาจจะเหลือไม่เยอะ 20-30 เตียง หรือ 100 กว่าเตียง แต่กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายวางแผนช่วยกันในเขตสุขภาพ โดยส่งผู้ป่วยข้ามเขตกันได้ พอจะรองรับได้ คิดว่าสัก 2 สัปดาห์ ถึง 1 เดือนจากนี้น่าจะเป็นช่วงพีคของคนไข้ที่ส่งกลับภูมิลำเนา” นพ.ธงชัย กล่าว 

หัวหน้าผู้ตรวจราชการฯ กล่าวว่า ส่วนด้านบุคลากรทางการแพทย์ปกติก็มภาระงานมากอยู่แล้ว ยิ่งโควิดก็ยิ่งทำให้มีภาระงานมากขึ้น และเหนื่อยล้าจากการระบาดมาเกือบจะ 2 ปี ยังไม่มีทีท่าลดลง รวมถึงเราส่งทีมแพทย์ พยาบาล เภสัชกรจากต่างจังหวัด เข้ามาช่วยงานในส่วนกลางด้วย และในแต่ละจังหวัดของตัวเองก็มีผู้ป่วยกลับไปอีกเกือบแสนราย จึงเป็นภาระที่ซ้อนกันสองส่วน แต่ก็จะทำหน้าที่อย่างเต็มที่เพื่อดูแลประชาชนให้รอดปลอดภัย อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข พยายามดูแล รัฐบาลได้ดูแลขวัญกำลังใจเพื่อให้มีกำลังใจทำงาน แต่เป็นช่วงวิกฤติ ไม่ใช่ช่วงที่จะสบาย หรือไปทำงานโดยไม่มีปัญหา ซึ่งมีความเหนื่อยล้า หลายคนเริ่มมีปัญหาอยู่บ้างแต่โดยระบบเรามีแผนเตรียมการจากกรมสุขภาพจิต วางแผนว่าท่านผู้บริหารฯ ควรจะทำอย่างไร ต้องมีระบบบัดดี้ดูแลกันและกัน เพื่อสามารถเดินหน้าในภาวะวิกฤตินี้ให้ผ่านไปได้.