เมื่อวันที่ 26 ก.ค. ที่ศาลาว่าการ กทม. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวภายหลังเป็นประธานกิจกรรมประกาศเจตนารมณ์และแสดงสัญลักษณ์ต่อต้านการทุจริต ว่า วันนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีของผู้บริหารกรุงเทพมหานครในการประกาศเจตนารมณ์ต่อต้านคอร์รัปชั่นร่วมกับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน หรือ ACT (แอค) เนื่องจากที่ผ่านมาประชาชนยังไม่ไว้ใจ กทม. โดยเฉพาะเรื่องความโปร่งใส จึงจำเป็นที่ต้องหาภาคีเครือข่ายมาร่วมในการตรวจสอบและสร้างความเชื่อมั่น ซึ่ง กทม.กับ ACT ได้มีโจทย์ที่ต้องทำงานร่วมกันใน 5 เรื่อง ดังนี้

1.โครงการบ้านยิ้ม ที่จะกำหนดให้การขอใบอนุญาตสร้างบ้านขนาดไม่เกิน 300 ตารางเมตร ต้องแล้วเสร็จภายใน 30 วัน ซึ่งเป็นโครงการเดิมของผู้ว่าฯ อภิรักษ์ ที่ กทม.นำมาปรับปรุงใหม่

2.ออกนโยบายห้ามรับของขวัญจากภาคเอกชน ห้ามเจ้าหน้าที่และผู้บริหารทุกระดับ รับเลี้ยง ห้ามกินฟรี ห้ามรับของขวัญ ของกำนัล

3.การนำ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด หรือ KT วิสาหกิจของ กทม. เข้ามาอยู่ในเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่น โดย KT ต้องเข้าร่วม CAC และคู่ค้ารายใหญ่ต้องเข้าร่วม CAC ในโอกาสต่อไป

4.โรงพยาบาลในสังกัด กทม. ประกาศและให้สัตยาบันไม่รับค่าคอมมิชชั่นยาและเวชภัณฑ์จากผู้ขาย

5.ผู้บริหารและข้าราชการ กทม.ร่วมประกาศนโยบายต่อต้านคอร์รัปชั่นเป็นลายลักษณ์อักษรพร้อมกัน

“นี่คือโจทย์ 5 ข้อแรกที่ทาง ACT ให้มา และจะขอการบ้านเรื่อยๆ ผมว่าการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่น ต้องทำร่วมกัน มีทั้งภาคีเครือข่าย มีทั้งประชาชน อย่าง Traffy Fondue ที่ผ่านมา มีคนแจ้งเหตุ 100,000 เรื่อง แก้ไขได้ 40,000 เรื่อง อาทิตย์ที่แล้วเราแยกเมนูต่างหากชื่อเมนู “กรุงเทพโปร่งใส” สามารถแจ้งเหตุเข้ามาได้ โดยเป็นเมนูพิเศษเป็นข้อมูลลับไม่เปิดเผย แยกจาก Traffy Fondue ปกติ เพื่อไม่ให้มีปัญหาทีหลัง ผมเชื่อว่าจะทำให้ความโปร่งใสเพิ่มขึ้นได้ และหวังว่าจะมีการขยายไปทั่วประเทศ นี่เป็นรูปแบบที่สำคัญ เป็น Start Up ด้านทุจริตที่เปลี่ยนรูปแบบเดิมในการแก้ปัญหา ขยายผลได้เร็ว น่าจะเป็นมาตรการหนึ่งให้เราได้รับพลังการแจ้งเหตุจากประชาชน และสามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุดมากขึ้น” นายชัชชาติ กล่าว

เมื่อถามว่าช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา มีการร้องเรียนเกี่ยวกับการการทุจริต บ้างหรือไม่ และจะมีการตรวจสอบความผิดและการลงโทษ อย่างไรบ้าง นายชัชชาติ กล่าวว่า การลงโทษต้องใช้เวลา ซึ่งอยู่ในกระบวนการตรวจสอบ รวมถึงมีเรื่องเก่าที่ยังค้างอยู่ระหว่างดำเนินการ และมีคณะกรรมการพิจารณาลงโทษอยู่ ที่ผ่านมามีเรื่องร้องเรียนการทุจริตก็มีเข้ามาตลอด กทม.ก็มีคณะกรรมการดำเนินการเรื่องนี้ตลอดด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา แอพพลิเคชั่น “ทราฟฟี่ ฟองดูว์” ยังไม่ได้เปิดเมนูสำหรับรับเรื่องร้องเรียนทุจริต แต่น่าจะเห็นผลชัดมากขึ้นหลังจากนี้ และคงต้องเตรียมรับเรื่องร้องเรียนมากกว่านี้ด้วย ปัจจุบัน “ทราฟฟี่ ฟองดูว์” มีเมนู “กรุงเทพโปร่งใส” ก่อนหน้านี้ใช้ชื่อ กรุงเทพฯ ทุจริต ฟังแล้วเป็นเชิงลบ เราอยากได้ความโปร่งใส จึงเปลี่ยนชื่อดังกล่าว ประชาชนลองเข้ามาใช้กัน แจ้งเหตุมาได้หมด