ล่าสุดทางแฟนเพจเฟซบุ๊ก @กฎหมายแรงงาน รองศาสตราจารย์ตรีเนตร สาระพงษ์ ได้โพสต์ข้อมูลให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายแรงงานและการทำงานในวันหยุดว่า “ทำงานวันละ 13 ชั่วโมง ไม่มีโอที ไม่มีเวลาพัก ห้ามป่วย ห้ามลา หยุดวันอาทิตย์ แต่ก็ต้องตอบไลน์ จากคำถามนี้ถ้าใครที่อ่านในเพจบ่อย ๆ ก็จะเห็นว่าไม่ใช่คำถามที่ยาก แค่รู้สึกว่าทำไมถึงเอารัดเอาเปรียบกันมากขนาดนี้ เรื่องนี้ขอแนะนำเป็นข้อ ๆ ดังนี้”

  • เรื่องเวลาทำงาน การที่นายจ้างให้ทำงานวันละ 13 ชั่วโมงเช่นนี้ ถือว่าผิดกฎหมาย เพราะกฎหมายให้ทำงานในเวลาทำงานปกติได้ไม่เกินวันละ 8 ชั่วโมง ส่วนที่เกิน 8 ชั่วโมง นายจ้างต้องจ่ายค่าล่วงเวลา
  • วันอาทิตย์ยังต้องตอบไลน์ กรณีนี้ก็ถือว่านายจ้างให้ทำงานในวันหยุด มีสิทธิได้เงินอีก 1 เท่า เก็บหลักฐานการแชทสั่งงานไว้ให้ดี
  • การที่นายจ้างบอก “งานไม่เสร็จ ไม่ต้องกลับ” ส่วนนี้ให้พิจารณาว่าที่ไม่ต้องกลับนั้นเกิน 8 ชั่วโมงหรือไม่ เกินมาเท่าใด เรียกค่าล่วงเวลาย้อนหลังได้
  • เวลาพักไม่ชัด หรือไม่ได้พัก กรณีนี้ถือว่าทำผิดกฎหมายมาตรา 27 ที่ต้องจัดเวลาพัก 1 ชั่วโมง หลังจากทำงานมาแล้วไม่เกิน 5 ชั่วโมง
  • การให้ทำงานล่วงเวลา หรือโอทีเกิน 2 ชั่วโมง ต่อจากเวลาทำงานปกติต้องจัดเวลาพักไม่น้อยกว่า 20 นาที กรณีนี้ไม่จัดผิดกฎหมาย เรียกค่าเสียหายได้
  • ลาป่วยถูกต่อว่า กรณีนี้ก็ไม่มีกฎหมายกำหนดว่าหากถูกต่อว่าผลจะเป็นอย่างไร
  • ตอนนี้ลาออกแล้ว แม้ Hr จะไม่ดำเนินเรื่องให้ ก็ถือว่าการลาออก มีผลนับตั้งแต่วันที่เราประสงค์จะออก ไม่ต้องสนใจว่า Hr จะอนุมัติหรือไม่อนุมัติ
  • เงินค่าจ้าง เซอร์วิสชาร์จ ที่ค้างจ่ายหากถึงกำหนดจ่ายเงินเดือนแล้วและยังไม่ได้รับ ถือว่านายจ้างผิดนัด ต้องรับผิดจ่ายดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี

(ส่วนค่าชดเชยที่ถามเข้ามาไม่มีสิทธิได้ เพราะลาออกเองไม่ใช่เลิกจ้าง)

  • กรณีขอแนะนำว่า ให้นำหลักฐานไปร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานในเขตพื้นที่ เพื่อเรียกร้องเอาเงินตั้งแต่รายการตามข้อ 1 ถึงข้อ 8 พร้อมดอกเบี้ย

ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพ : @กฎหมายแรงงาน