นายทวีศักดิ์ ธนเดโชผล รองอธิบดีฝ่ายบำรุงรักษา กรมชลประทาน กล่าวว่า การเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในกระบวนการบริหารจัดการน้ำเป็นสิ่งสำคัญ และมีความจำเป็นต้องสร้างความเข้าใจและให้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องแก่ประชาชน รวมทั้งมีช่องทางการรับฟังความคิดเห็น และการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการรายงานสถานการณ์น้ำ และบริหารจัดการน้ำ

การพัฒนาแอปพลิเคชัน SWOC-PR ของกรมชลประทานในครั้งนี้ นับได้ว่าเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการรายงานสถานการณ์น้ำ ให้ทางกรมชลประทานทราบถึงข้อมูลสภาพน้ำท่วม น้ำแล้ง และการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ รวมทั้งเป็นช่องทางรับฟังความคิดเห็นและเสนอแนะการทำงานให้แก่กรมชลประทาน และยังเป็นช่องทางให้ข้อมูลด้านบริหารจัดการน้ำและการชลประทานกลับคืนไปยังประชาชนทุกภาคส่วน นอกจากนี้ แอปพลิเคชัน SWOC-PR ยังช่วยให้เจ้าหน้าของกรมชลประทานเองได้รายงานสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ รวมทั้งการแก้ไขและบรรเทาปัญหาดังกล่าว ซึ่งก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในการบริหารจัดการน้ำ และเป็นการพัฒนายกระดับการให้บริการด้านชลประทานสู่ภาคประชาชน

ด้านนายธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา กรมชลประทาน กล่าวว่า ทางกรมชลประทานได้รับความร่วมมือจากภาควิชาวิศวกรรมชลประทาน คณะวิศวกรรมศาสตร์ กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในการพัฒนาระบบและเครื่องมือการรายงานสถานการณ์น้ำสำหรับเจ้าหน้าที่กรมชล ประทานและประชาชนทั่วไป ผ่านแอปพลิเคชัน SWOC-PR รวมทั้งการวิจัย ออกแบบ พัฒนา และทดสอบ นวัตกรรมระบบตรวจวัดระดับน้ำโดยใช้ QR Code ผ่านแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งได้ดำเนินการนำร่องติดตั้งในลำน้ำต่างๆ กว่า 42 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งการติดตามสถานการณ์น้ำในลําน้ำต่างๆ ที่สำคัญจะทําให้กรมชลประทานได้รับข้อมูลสถานการณ์น้ำสำหรับใช้ในการวางแผนบริหารจัดการน้ำในลำน้ำต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเสริมสร้างการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำของภาคประชาชน

แอปพลิเคชัน SWOC PR จะช่วยทำให้เกิดการมีส่วนร่วมของการรายงานสถานการณ์น้ำ ทั้งจากสถานีตรวจวัดระดับน้ำ เจ้าหน้าที่ และภาคประชาชนในพื้นที่ ได้อย่างคล่องตัวมากขึ้น โดยความสามารถของแอปพลิเคชันจะครอบคลุมการรายงานสถานการณ์น้ำจากสถานีตรวจวัดน้ำฝน อ่างเก็บน้ำ และโทรมาตรขนาดเล็ก จากสถานีที่ใกล้ที่สุด ตลอดจนการรายงานสถานการณ์น้ำท่วม ภัยแล้ง และอื่นๆ จากเจ้าหน้าที่กรมชลประทาน

ขณะที่ภาคประชาชนสามารถเข้าไปในส่วนของกระดานสื่อสารสำหรับประชาชน เพื่อการตั้งกระทู้เกี่ยวกับสถานการณ์น้ำ การแจ้งเรื่องร้องเรียนและข้อเดือดร้อนจากสถานการณ์น้ำ พร้อมการประยุกต์ใช้ระบบ QR code เพื่อเข้าข้อมูล รายงานสรุปสถานการณ์น้ำของพื้นที่จุดเฝ้าระวังในลำน้ำหลักและลำน้ำสาขาได้แบบเรียลไทม์ ทำให้ทั้งเจ้าหน้าที่และภาคประชาชนได้รับทราบข้อมูลสถานการณ์น้ำในลำน้ำต่าง ๆ ที่สำคัญผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้อย่างทันท่วงที

การพัฒนาระบบรายงานสถานการณ์น้ำ พร้อมเชื่อมโยงเป็นระบบร่วมกับการแสดงผลแบบ Real Time ผ่าน Application SWOC PR (Smart Water Operation Center) จะทําให้กรมชลประทานได้รับข้อมูลในการวางแผนบริหารจัดการน้ำในลำน้ำต่างๆ ทั่วประเทศอย่างเหมาะสม อีกทั้งยังเสริมสร้างการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำของภาคประชาชน เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้เข้ามามีส่วนร่วมในการติดตามสถานการณ์น้ำในลําน้ำต่างๆ พร้อมทั้งสร้างการรับรู้ต่อสถานการณ์น้ำในรูปแบบต่างๆ ให้ประชาชนทั่วไปได้เตรียมความพร้อมสําหรับรองรับสถานการณ์น้ำที่คาดว่าจะเกิดขึ้น