เมื่อวันที่ 30 ก.ค. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พ.ต.อ.ชินวุฒิ ตั้งวงษ์เลิศ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (ศปอส.ตร.) หรือ PCT ชี้แจงกรณี พล.ต.ต.อังกูร อาทรไผท อดีต ผบก.ทล. ตำนานอดีตตำรวจมือปราบคดีสำคัญ แชร์ข้อมูลเพื่อเป็นวิทยาทาน ถึงประสบการณ์ที่ตนเองถูกแก๊ง Call Center ปลอมเสียงเป็นเพื่อนสนิทโทรฯ มาหลอกยืมเงิน โดยให้ข้อสังเกตไว้ได้อย่างน่าสนใจว่า ที่ตนหลงเชื่อเพราะ 1.น้ำเสียงเหมือนคนที่แอบอ้าง 2.โทรฯ มาแจ้งเบอร์โทรศัพท์ใหม่ให้ทราบแล้วทิ้งระยะวันนึงแล้วจึงเริ่มปฏิบัติการ 3.อ้างเรื่องซื้อโทรศัพท์ใหม่ (เรื่องที่เป็นไปได้) 4.ใช้เบอร์บัญชีผู้อื่นรับโอน (ทำให้คิดว่าเป็นเบอร์คนขาย) 5.คนที่ถูกแอบอ้างมีฐานะสามารถใช้คืนได้

ทั้งนี้เมื่อรู้ตัวว่าเป็นเหยื่อมิจฉาชีพและประสงค์ดำเนินคดี พบว่า มีปัญหาในระบบจัดการกับแก๊ง Call Center เช่น เมื่อโทรฯ ไปแจ้งความก็พบกับระบบรับโทรศัพท์แบบอัตโนมัติ ของศูนย์ปราบปรามไซเบอร์, โทรฯ ไปที่หน่วยงานต่างๆ ไม่มีผู้รับสาย หรือแจ้งว่าจะติดต่อกลับ สุดท้ายไปพบพนักงานสอบสวน สน.ประเวศ เพื่อร้องทุกข์ดำเนินคดีกับคนร้าย ได้รับฟังปัญหาจากพนักงานสอบสวนท้องที่ว่า หน่วยงานเฉพาะทางไม่ทำ โยนให้ท้องที่หมดนั้น

พ.ต.อ.ชินวุฒิ กล่าวชี้แจงในเรื่องนี้ว่า ศูนย์ PCT ได้ให้ฝ่ายสืบสวนประสานสนับสนุนข้อมูลกับตำรวจพื้นที่แล้ว และทำเรื่องอายัดบัญชีกับทางธนาคารเรียบร้อยแล้ว จากนี้ไปจะเร่งติดตามจากบัญชีม้า ตรวจสอบความเชื่อมโยงและรายงานไปยัง ปปง. เพื่อตรวจสอบทรัพย์สินของผู้ที่เกี่ยวข้อง หากมีความคืบหน้าในคดีจะแจ้งให้ทราบโดยเร็ว โดยเราได้มีการประชาสัมพันธ์เตือนภัยเรื่องการปลอมหรือแฮก Line หรือ Facebook ทักข้อความไปหลอกยืมเงิน โดยแนะนำว่าควรโทรศัพท์ หรือวิดีโอคอลตรวจสอบตัวตนว่า ใช่เจ้าตัวหรือไม่

กรณีการหลอกโดยการเลียนเสียงเพื่อนโทรฯ หลอกยืมเงิน ยังไม่พบว่าเคยมีมาก่อน และไม่ทราบว่า คนร้ายเลียนเสียงได้จริงหรือไม่ ต้องรอให้ชุดสืบสวนของ PCT สืบสวนและตรวจสอบข้อมูลในรายละเอียดก่อน ซึ่งถ้าเป็นจริง จะถือเป็นรูปแบบใหม่ที่ทางศูนย์ PCT จะต้องทำการประชาสัมพันธ์เตือนภัยกันต่อไป ขอย้ำเตือนให้ประชาชนตรวจสอบข้อมูลให้แน่ชัด ก่อนโอนเงินให้ใคร เช่น สอบถามข้อมูลส่วนตัว วิดีโอคอลเพื่อให้เห็นใบหน้า เป็นต้น

นอกจากนี้ควรระมัดระวังการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว การตั้งรหัสใช้งานแพลตฟอร์มต่างๆ ควรปกปิด ใช้รหัสคาดเดาได้ยาก หรือเปลี่ยนรหัสเป็นประจำ อีกทั้งไม่กดลิงก์แปลกๆ หลอกเอาข้อมูล หรือที่เรียกว่า Phishing ป้องกันการถูกแฮกบัญชีออนไลน์ต่างๆ

ส่วนกรณีที่โทรฯ มาแจ้งความ แต่เป็นระบบอัตโนมัตินั้น ทราบว่า เป็นความเข้าใจที่คาดเคลื่อน เนื่องจากเป็นเบอร์โทรศัพท์ 0-2252-7883 ที่ค้นหาจากกูเกิล ไม่ใช่สายด่วน บช.สอท. 1441 หรือศูนย์ PCT 08-1866-3000 ซึ่งทาง ศปอส.ตร. ได้มีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบมาโดยตลอด และมีการเปิดระบบรับแจ้งความออนไลน์ผ่าน www.thaipoliceonline.com ไปตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.65 ที่ผ่านมา ซึ่งปัจจุบันมีผู้เสียหายแจ้งความผ่านระบบวันละประมาณ 300-400 ราย

สำหรับกรณีที่พนักงานสอบสวน สน.ประเวศ พูดว่า “ท่านครับ หน่วยปราบไซเบอร์เค้าไม่ทำละครับ มันเยอะ โยนมาให้ท้องที่หมด” สอบถามไปยังพนักงานสอบสวนรายนี้แล้ว ยอมรับว่าเข้าใจคาดเคลื่อน เนื่องจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีหนังสือสั่งการที่ ตร.ที่ 322/2565 ลง 6 ก.ค.2565 แบ่งงานให้ บช.สอท., บช.ก. และหน่วยพื้นที่ตามลักษณะคดี เพื่อให้การดำเนินคดีเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ในลักษณะคดีดังกล่าวอยู่ในความรับผิดชอบของโรงพัก แต่ก็จะมีการประสานความร่วมมือระหว่างสถานีตำรวจท้องที่ กับ บช.สอท. และ บช.ก. บูรณาการทำงานเป็นสถานีตำรวจประเทศไทย เพื่อรองรับรูปแบบคดีประเภทต่างๆ ที่เกิดขึ้น