เมื่อเวลา 10.45 น. วันที่ 1 ส.ค. นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) ได้แถลงข่าวชี้แจงกรณีคานสะพานลอยกลับรถหล่นบนถนนพระราม 2 ผ่านทางเพจเฟซบุ๊ก กรมทางหลวงว่า ทล. ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้ง กับเหตุการณ์อุบัติเหตุคานสะพานลอยกลับรถ กม.34 ทางหลวงหมายเลข 35 (ถนนพระราม 2) ใกล้กับโรงพยาบาลวิภาราม อ.เมือง จ.สมุทรสาคร หล่นทับรถยนต์ ทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย บาดเจ็บ 2 ราย รวมทั้งหมด 4 ราย เหตุเกิดเวลาประมาณ 20.00 น. วันที่ 31 ก.ค.65 

การดำเนินการครั้งนี้ ศูนย์สร้างและบูรณะสะพานที่ 3 (ปทุมธานี) เป็นผู้ดำเนินการเอง ส่วนเอกชนไม่เกี่ยวข้อง และไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 82 หรือ M82 สายทางยกระดับบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว ระยะทาง 24.7 กม. แต่อย่างใด

นายสราวุธ กล่าวต่อว่า โดยศูนย์ฯ เริ่มเข้าซ่อมแซมสะพานดังกล่าว ใช้งบประมาณ 3 ล้านบาท ตั้งแต่วันที่ 23 มิ.ย. ที่ผ่านมา กำหนดแล้วเสร็จในเดือน ส.ค.65 ประกอบด้วยการทุบรื้อพื้นสะพานและเปลี่ยนพื้นใหม่ จำนวน 2 ช่วง งานสกัดโครงสร้างสะพานที่เสียหาย ส่วนที่อยู่บนคานคอนกรีตอัดแรง รวมทั้งบริเวณพื้นที่ส่วนของทางขึ้นทางลง

ซึ่งการซ่อมแซมครั้งนี้ เนื่องจากก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ.2536 จนถึงปัจจุบันปี 2565 ซึ่งได้ใช้งานมาเป็นระยะเวลานานกว่า 29 ปี จึงมีความจำเป็นต้องบูรณะซ่อมแซมสะพาน เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะใช้งานได้อย่างแข็งแรงปลอดภัย เพิ่มประสิทธิภาพในการกลับรถขาเข้าบนถนนพระราม 2

นายสราวุธ กล่าวอีกว่า แม้การดำเนินการครั้งนี้ ศูนย์ฯ จะเป็นผู้ดำเนินการเองเป็นไปตามกระบวนการดำเนินการก่อสร้างทุกอย่าง และที่ดำเนินการเอง เนื่องจาก ทล. มีศูนย์สร้างและบูรณะสะพาน จำนวน 4 แห่งทั่วประเทศ เพื่อไว้ดำเนินงานกรณีงานที่ไม่ใช่โครงการใหญ่ เช่น กรณีที่เกิดอุทกภัย สะพานขาด ศูนย์ฯ ดังกล่าวจะเร่งเข้าไปดำเนินการทอดสะพานเบลีย์ เพื่อให้ประชาชนสามารถสัญจรได้ ส่วนโครงการขนาดใหญ่ เช่น ก่อสร้างทางยกระดับ หรือสะพานข้ามแม่น้ำ ทล. จะดำเนินการจ้างเหมา  

สำหรับสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุครั้งนี้ จากการสอบสวนเบื้องต้น เป็นการทุบพื้นสะพาน เพื่อเทปูนบนสะพานใหม่ ซึ่งดำเนินการเสร็จแล้ว 1 ช่วง ในฝั่งขาออก ส่วนขาเข้าทุบพื้นเดิมเสร็จ ขณะเกิดเหตุนายช่างคุมงานเตรียมจะมีการเทพื้นสะพานใหม่ มีการเก็บรายละเอียด ซึ่งเป็นขั้นตอนตามปกติ แต่ระหว่างนั้น คานตัวริมได้มีการร่วงลงมาทำให้เกิดความเสียหายกับรถที่ผ่าน 3 คัน มีผู้เสียชีวิต 1 คน ส่วนคนขับบาดเจ็บ คนงานกรมทางหลวงร่วงลงมาพร้อมคาน 2 คน ในจำนวนนี้มี 1 คน เสียชีวิตที่โรงพยาบาล อีกคนบาดเจ็บเล็กน้อยที่รักษารตัวที่ รพ.สมุทรสาคร ส่วนประชาชนที่ได้รับบาดเจ็บขณะนี้กลับบ้านแล้ว

นายสราวุธ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ทล. และ สภาวิศวกร จะร่วมลงพื้นที่ตรวจสอบสาเหตุที่แท้จริงต่อไป ขณะเดียวกัน ทล. ได้ตั้งกรรมการตรวจสอบรายละเอียดข้อเท็จจริง วิเคราะห์สาเหตุที่เกิดขึ้นโดยวิศวกรผู้เชี่ยวชาญ ให้รายงานผลภายใน 14 วัน และให้ระงับการซ่อมแซมโครงสร้างสะพานกลับรถนี้ รวมทั้งปิดการจราจรช่องทางหลักขาเข้าไว้ก่อน จนกว่าจะมีความมั่นใจในความปลอดภัย และได้สั่งการให้ตรวจสอบ ขั้นตอนการทำงาน วัสดุชิ้นส่วนงานก่อสร้าง เครื่องมือเครื่องจักร และเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงาน ให้มีความพร้อม หากพบว่าส่วนใดส่วนหนึ่งไม่พร้อม ไม่ปลอดภัย ให้หยุดงานก่อสร้างทันที

ถ้าตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วพบว่า เกิดจากความประมาทของเจ้าหน้าที่ระดับไหนก็ตาม จะลงโทษทางวินัย และความผิดทางละเมิดจะให้ชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นด้วย

นายสราวุธ กล่าวด้วยว่า ส่วนกรณีเยียวยาผู้ที่ได้บาดเจ็บและเสียชีวิต ทล. จะดูแลอย่างเต็มที่ ทั้งกรณีค่ารักษาพยาบาล และดำเนินการด้านพิธีกรรมทางศาสนากรณีผู้เสียชีวิต โดย ทล. จะเป็นเจ้าภาพตลอดจนดำเนินการเสร็จสิ้น สำหรับกรณีเป็นเจ้าหน้าที่ของ ทล. กรณีเสียชีวิตจะมีเงินกองทุนสวัสดิการ ทล. ได้รับรายละ 30,000 บาท ส่วนกรณีบาดเจ็บจะได้รับค่ารักษา 10,000-30,000 บาทต่อราย ขึ้นอยู่กับความรุนแรงในการบาดเจ็บ นอกจากนี้มีเงินที่ ทล. ร่วมกันบริจาคให้กับเจ้าหน้าที่ที่ได้ประสบเหตุหรือเกิดอุบัติเหตุระหว่างก่อสร้างด้วย ซึ่งในจำนวนการเยียวยาจะเป็นอะไรบ้าง และมีวงเงินรวมเท่าไหร่นั้น ทล. จะเจรจากับครอบครัวผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเพื่อให้ข้อสรุปอีกครั้ง ส่วนกรณีรถยนต์เสียหาย 3 คันนั้น ทล. จะหารือกับผู้เสียหาย และประสานไปยังบริษัทประกันภัย เพื่อชดใช้ค่าเสียหายทุกอย่าง เพราะเป็นความผิดพลาดของ ทล.

ส่วนกรณีที่ดำเนินการดังกล่าวแล้วไม่ปิดการจราจรนั้น เนื่องจากโครงการดังกล่าว อยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมเทพื้นสะพานใหม่ จึงไม่มีการปิดจราจร แต่มีการวางแนวกั้นพื้นที่ก่อสร้างตามขั้นตอนก่อสร้างแล้ว นอกจากนี้จะโครงการดังกล่าวจะปิดกาจราจรก็ต่อเมื่ออยู่ขั้นตอนเทพื้นสะพาน หรือมีการยกคาน หรือวางคานสะพาน ซึ่งจะเป็นการเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายกับผู้สัญจร ส่วนกรณีที่ว่ารถบรรทุกใช้สะพานนี้บ่อย และเคยเกิดเหตุรถบรรทุกน้ำมัน 18 ล้อ พลิกคว่ำและเกิดเพลิงลุกไหม้ สะพานนี้นั้น เหตุการณ์รถบรรทุกเกิดขึ้นเมื่อปี 2547 จนถึงปัจจุบันรวม 18 ปีแล้ว ซึ่งหลังจากเหตุการณ์นั้นได้ปรับปรุงซ่อมแซมแก้ไขมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มความมั่นคงแข็งแรงและปลอดภัยในการใช้งาน

“ได้สั่งการทุกโครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้างที่มีประมาณ 200 กว่าโครงการ ให้ตระหนักถึงเหตุการณ์นี้ เพิ่มความปลอดภัยในการดำเนินงานอย่างครอบคอบทุกมิติ เพื่อสร้างความมั่นใจให้ประชาชน ว่าจะไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำอีก” นายสราวุธ กล่าว

ด้านนายอภิชาติ จันทรทรัพย์ รองอธิบดี ทล. กล่าวว่า ที่ผ่านมา ทล. ได้เข้มงวดในเรื่องความปลอดภัยในการก่อสร้างมาโดยตลอด ทั้งการตรวจสอบอุปกรณ์และเจ้าหน้าที่ในการทำงาน หลังจากนี้อาจจะต้องตรวจสอบอุปกรณ์และบุคคลในการก่อสร้างละเอียดในการทำงานมากขึ้น รวมทั้งอาจจะต้องให้บุคคลที่ 3 เข้ามาตรวจสอบในการดำเนินการก่อสร้าง ทั้งกำหนดการก่อสร้าง และมาตรการความปลอดภัย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีก หรือถ้าเกิดให้เกิดน้อยที่สุด เพราะถ้าเกิดเหตุจะส่งผลกระทบต่อผู้ใช้ทางในถนนพระราม 2 ที่มีปริมาณจราจรคับคั่ง และการทำงานบนถนนพระราม 2 ที่ผ่านมามีข้อจำกัดต้องทำงานในเวลากลางคืน เวลา 22.00-04.00 น. เพื่อไม่ให้กระทบจราจรบนถนนพระราม 2