เมื่อวันที่ 1 ส.ค. สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) แจ้งว่า ในวันที่ 3 ส.ค.65 กพท. จะเชิญนักบินผู้ควบคุมอากาศยาน และนักบินผู้ช่วยของเครื่องบิน เที่ยวบิน DD108 เส้นทางกรุงเทพฯ (ดอนเมือง)-เชียงราย ที่ลื่นไถลออกนอกทางวิ่ง (รันเวย์) ที่ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย (ทชร.) ทั้ง 2 ราย เข้ามาสัมภาษณ์เกี่ยวกับระยะเวลาในการอพยพผู้โดยสาร ที่เกิดเป็นประเด็นคำถามทางสังคมถึงความล่าช้า อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นจากการเชิญผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ของสายการบินนกแอร์ และ ทชร. เข้าชี้แจงถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทางสายการบินนกแอร์ ระบุว่า นักบินได้ปฏิบัติตามขั้นตอนการอพยพในกรณีฉุกเฉิน (Emergency Evacuation Checklist) รวมทั้งได้ติดต่อประสานงานกับเจ้าหน้าที่ภาคพื้นของสนามบินขอความช่วยเหลือ และลำเลียงผู้โดยสารจากที่เกิดเหตุไปยังอาคารผู้โดยสารอย่างปลอดภัย
ทั้งนี้ตามประกาศ กพท. เรื่อง ข้อกำหนดการรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ (Air Operator Certificate Requirements) พ.ศ. 2564 กำหนดให้ผู้ดำเนินการเดินอากาศต้องมีการดำเนินการตามบทที่ 1 ข้อ 13.1 Evaluation of Passenger Evacuation Capability/Emergency Evacuation Demonstrations ระบุว่า การอพยพผู้โดยสารทั้งหมดออกจากอากาศยานในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินต้องสามารถทำได้ภายในระยะเวลา 90 วินาที ซึ่งการอพยพผู้โดยสารตามมาตรฐานสากลในกรณีฉุกเฉินให้ลุล่วงภายในเวลา 90 วินาทีนี้ ถูกกำหนดขึ้นใช้กับอากาศยานพลเรือนทุกแบบ
ในกรณีเกิดเหตุการณ์ตัดสินใจของนักบินในการสั่งการอพยพผู้โดยสาร จะขึ้นอยู่กับสถานการณ์ขณะนั้น เช่น หากมีไฟไหม้หรือกลุ่มควัน หรือเหตุที่พิจารณาแล้วว่าเป็นอันตรายต่อชีวิตไม่มีทางอื่นนอกจากอพยพโดยทันที (Emergency Evacuation) แต่หากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่ภายใต้การควบคุมของนักบิน และหลังเกิดเหตุไม่ปรากฏแนวโน้มที่จะเกิดภาวะฉุกเฉินหรืออันตรายต่อชีวิต อีกทั้งมีปัจจัยอื่นๆ เช่น เวลากลางคืน หน่วยกู้ภัยภาคพื้นยังมาไม่ถึง หรือบริเวณโดยรอบจุดเกิดเหตุเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยง หรือสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย นักบินสามารถตัดสินใจพิจารณาถึงความปลอดภัยของชีวิตผู้โดยสารเป็นหลัก โดยอาจตัดสินใจไม่อพยพผู้โดยสารโดยทันที
กพท. แจ้งต่อว่า สำหรับความคืบหน้าการเคลียร์พื้นที่เกิดเหตุนั้น สายการบินเป็นผู้มีหน้าที่รับผิดชอบและประสานงานในการกู้และเคลื่อนย้ายอากาศยาน ซึ่งขณะนี้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบอยู่ในพื้นที่เกิดเหตุแล้ว แต่ยังอยู่ระหว่างการประเมินการเคลื่อนย้ายอากาศยานให้ปลอดภัยที่สุด โดยมีขั้นตอนดำเนินการ ทั้งเรื่องการสอบสวน และให้เตรียมการเพื่อเคลื่อนย้ายอากาศยาน โดยทั้งสายการบินและท่าอากาศยานได้ประสานกันอย่างต่อเนื่อง และมีการจัดทำแผนตามสภาพหน้างาน และต้องมีการปรับปรุงรันเวย์ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานต่อไป เบื้องต้นระยะเวลา การปิดท่าอากาศยานยังคงเป็นไปตามกำหนดการเดิมคือ 3 ส.ค.65
กพท. แจ้งอีกว่า สำหรับการดูแลผู้โดยสารในเที่ยวบินที่เกิดเหตุ ทางสายการบินนกแอร์แจ้งว่า ได้พยายามดำเนินการตามขั้นตอน แต่เนื่องจากเที่ยวบินเป็นเวลากลางคืน ทำให้ไม่สามารถหาอาหารว่างได้ และน้ำดื่มมีจำกัด จึงไม่สามารถดำเนินการได้อย่างทั่วถึง ส่วนสัมภาระนั้นหน่วยงานสอบสวนได้อนุญาตให้นำสัมภาระออกมาได้แล้ว และประสานให้ผู้โดยสารมารับสัมภาระที่โหลดใต้ท้องเครื่องบินแล้ว ส่วนเที่ยวบินขากลับจากเชียงรายมายังกรุงเทพฯ สายการบินนกแอร์ได้จัดที่พักให้กับผู้โดยสารขากลับ และทำการชดเชยผู้โดยสารตามประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่องการคุ้มครองสิทธิของผู้โดยสารที่ใช้บริการสายการบินของไทยในเส้นทางประจำภายในประเทศ พ.ศ. 2553 และได้จัดรถเพื่อนำผู้โดยสารมายังท่าอากาศยานเชียงใหม่ เพื่อเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ต่อไป
กพท. แจ้งด้วยว่า สำหรับผู้โดยสารที่ไม่ได้มีบัตรโดยสารอยู่เดิม และซื้อบัตรโดยสารใหม่ในช่วงใกล้เวลาการเดินทาง เข้าและออกจากท่าอากาศยานเชียงใหม่ อาจประสบปัญหาบัตรโดยสารราคาสูง อย่างไรก็ตาม กพท. มีกลไกการตรวจสอบราคาขายบัตรโดยสารของสายการบินอยู่แล้ว โดยเฉพาะช่วงหลังเหตุการณ์ดังกล่าว ได้ตรวจสอบอย่างต่อเนื่องทุกวัน เพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีการขายเกินเพดานราคาที่กำหนดไว้ หากผู้โดยสารไม่ได้รับความเป็นธรรมด้านสิทธิผู้โดยสาร สามารถร้องเรียนมาได้ที่ https://caat.or.th/complaint/ ทั้งนี้ กพท. ได้กำชับให้สายการบินเร่งแก้ไขปัญหาหน้างานให้คลี่คลายโดยเร็วที่สุด และให้สายการบินสรุปข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อเข้ามาชี้แจงอย่างละเอียดอีกครั้งกับ กพท.