ปัจจุบันจะเห็นได้ว่าการเปลี่ยนแปลงทางสังคมมากมาย ส่วนใหญ่มักจะเกิดจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ ๆ โดยเฉพาะ “คนเจเนอเรชั่นซี” หรือที่เรียกว่า “กลุ่ม Gen Z” ซึ่งทำให้คนกลุ่มนี้กลายเป็นเจเนอเรชั่นใหม่ที่ทรงอิทธิพลในด้านต่าง ๆ ทั้งทางสังคม หรือแม้แต่กับโลกของธุรกิจ ที่ในแง่ของการตลาดแล้วนั้นผู้ประกอบการจำเป็นจะต้องเข้าใจและรู้ลึกถึงพฤติกรรม รสนิยม และความต้องการของคนกลุ่มนี้ ที่วันนี้คอลัมน์นี้ก็มีข้อมูลน่าสนใจนำมาให้พิจารณากันในอีกหนึ่งแง่มุม…

ทั้งนี้ ข้อมูลเรื่องนี้มาจากทาง ฮิลล์ อาเซียน หรือ สถาบันวิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน ที่ได้ทำการวิจัยเชิงลึกในหัวข้อ “Now you Z me: Debunking myths about ASEAN’s Generation Z” ซึ่งมุ่งเน้นไปที่พฤติกรรมผู้บริโภครุ่นใหม่ในอาเซียน โดยได้เจาะลึกพฤติกรรมผู้บริโภคในกลุ่ม Gen Z ที่เป็นคนที่มีอายุระหว่าง 9-24 ปี และพบว่าคนกลุ่มนี้เป็นประชากรที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ ทำให้คนเจเนอเรชั่นซีมีความสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก จนถูกขนานนามเป็น “ซินเนอร์ไจเซอร์ (SynergiZers)” โดยทางฮิลล์ อาเซียน ให้คำจำกัดความคำนี้ว่าเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีความคิดสร้างสรรค์ มีการปรับสมดุลในมุมมองต่าง ๆ ทั้งการทำงานและการใช้ชีวิตประจำวัน รวมถึงชอบเปิดมุมมองต่าง ๆ ให้กับชีวิต ซึ่งจากการสำรวจในภูมิอาเซียน พบว่าคน Gen Z ส่วนใหญ่จะชอบเปิดรับข้อมูลข่าวสารผ่านสมาร์ทโฟนที่รวดเร็ว และต้องการมุมมองใหม่ที่น่าสนใจ ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวธุรกิจกำลังให้ความสนใจ โดยเฉพาะการนำไปใช้วางแผนทำการตลาด

นอกจากนั้น ผลสำรวจในหัวข้อเรื่อง “การรับรู้เกี่ยวกับแบรนด์” นั้น ยังพบว่า กลุ่มคนที่เรียกว่า “ซินเนอร์ไจเซอร์” นี้ กว่า 85% เต็มใจที่จะใช้จ่ายมากขึ้นอีก 10% ถ้าหากแบรนด์มีส่วนร่วมสำคัญในการแก้ปัญหาทางสังคม ซึ่งเมื่อเทียบกับกลุ่มคนเจนอื่น คนกลุ่มนี้มีความคาดหวังอย่างมากต่อแบรนด์ต่าง ๆ และมองว่าแบรนด์ควรที่จะสามารถเติมเต็มชีวิตของคนกลุ่มนี้ได้ในหลากหลายบทบาท จึงเกิดเป็น “4 กลยุทธ์พิชิตใจ Gen Z” ดังนี้ ได้แก่ 1.Be Inclusive ด้วยการทำให้แบรนด์เข้าถึงและทำให้ทุกคนรู้สึกมีส่วนร่วมได้ ด้วยการเปลี่ยนจาก Unique Selling Point เป็น Unique Social Perspective หรือแสดงจุดยืนทางสังคมที่มีความสอดคล้องกับแบรนด์ รวมถึงเปลี่ยนจากกลยุทธ์เดิม อย่าง Reason To Believe มาเป็น Reason to Bond ด้วยการสร้างสตอรี่ให้คนเจนซีอยากจะคอนเน็คกับแบรนด์ 2.Be Brave เนื่องจากคนกลุ่มซินนิไจเซอร์มีการแบ่งตัวตนที่แตกต่างในแต่ละแพลตฟอร์ม

ดังนั้นแบรนด์ควรกล้าสื่อสารและแสดงตัวตนที่หลากหลายและมีความยืดหยุ่น 3.Co-Create ด้วยความที่คนเจนซีถนัดในเรื่องของการแสดงออกทางความคิดและความเป็นตัวเอง ดังนั้นแบรนด์สามารถเปิดพื้นที่ในการพูดคุยกับคนกลุ่มนี้ เพื่อที่จะรับรู้และได้ข้อมูลใหม่ ๆ นำมาใช้สร้างสรรค์สิ่งที่จะทำให้โดนใจคนกลุ่มนี้ 4.Be Direct  ด้วยความที่คนเจนซีเป็นนักช้อปที่เน้นเหตุผลและชอบการหาข้อมูลด้วยตัวเอง แบรนด์จึงควรสื่อสารอย่างตรงไปตรงมา และให้ข้อมูลที่ละเอียด กระชับ และเข้าใจง่าย เพื่อให้คนกลุ่มนี้ตัดสินใจซื้อได้อย่างรวดเร็วในทุกช่องทาง ทั้งออฟไลน์-ออนไลน์ และนี่ก็เป็นข้อมูลน่าสนใจจากผลสำรวจเกี่ยวกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ถูกขนานนามว่า “ซินเนอร์ไจเซอร์ SynergiZers” ซึ่งเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่ทรงมีอิทธิพลต่อตลาดและธุรกิจในปัจจุบัน ที่เอสเอ็มอีน่าศึกษาทำความเข้าใจ.

ศิริโรจน์ ศิริแพทย์ [email protected]