กระบวนการก็จะยืดเยื้อยาวนานอยู่อย่างนี้ อย่างว่าคือ “ไม่แก้ไขอะไรให้มันเบ็ดเสร็จเด็ดขาดตั้งแต่รัฐธรรมนูญ” พอทำกฎหมายลูกก็เห็นว่าขัดมาตรานี้มาตราโน้นของรัฐธรรมนูญให้มั่วไปหมด พูดตรงๆ ว่า น่าเบื่อ ขนาดว่า ไม่ต้องไปตามอะไรเยอะหรอก รอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า มันขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่เอาแล้วกัน

จากนั้นกระบวนการจะเป็นอย่างไรต่อ ล่อไปถึงแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่ ก็ไม่ทราบ แต่ถ้าให้ดี รอให้ ส.ว.ลากตั้งชุดนี้ พ้นวาระไปก่อนอีก 2 ปี แล้วรัฐบาลใหม่ที่เปลี่ยนขั้วแล้ว มาแก้รัฐธรรมนูญโดยใช้สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ยกร่างดีกว่า ไม่ต้องให้มันมั่วมาก ก็ล้อรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 มา กติกาเลือกตั้งเข้าใจง่ายที่สุดแล้ว

อีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจคือ วันที่ 23 ส.ค. นี้ จะเป็นวันที่ถกเถียงกันมากอีกวันหนึ่งว่า “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม จะอยู่ครบวาระคือ 8 ปีติดต่อกันหรือไม่ ถ้าครบก็ต้องพ้นจากตำแหน่ง ก็มีการตีความกันโน้นนี่ บอกนับตั้งแต่เป็นนายกฯ จากรัฐประหารปี 57 กับบอกว่าต้องเริ่มนับการเป็นนายกฯ ตั้งแต่เลือกตั้งปี 62

ถ้าเริ่มนับ “บิ๊กตู่” เป็นนายกฯ จากการเลือกตั้งปี 62 ก็เท่ากับว่า “บิ๊กตู่” อยู่ยาวได้ถึงปี พ.ศ.2568 จะพยายามยื้อยุดฉุดดันอะไรยังไงจนถึงขั้นแก้หลักเกณฑ์ ..ถ้ามีการ “สมผลประโยชน์” อะไรบางอย่างกัน “ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง” ก็พร้อมจะทำ แม้ว่าจะถูกทักท้วงว่าขัดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ไม่ต้องการให้มีการผูกขาดอำนาจ

นายไพศาล พืชมงคล อดีตที่ปรึกษารองนายกฯ (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) ยก รัฐธรรมนูญมาตรา 264 อ้างว่า ให้ ครม.ที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 เป็น ครม.ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ 2560 จนกว่า ครม.ที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่

หมายความว่า “การเป็น ครม.ยุค คสช.ก็นับรวมอายุความเป็น ครม.ด้วย” ไม่ใช่มาเริ่มนับกันหลังเลือกตั้งปี 62 คนที่จะต้องพ้นจากตำแหน่งคือ “บิ๊กตู่”, “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร, “บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย, นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.การต่างประเทศ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ …แต่นายกฯ พ้นคนเดียวคือพ้นทั้งคณะ

เรื่องนี้ฝ่ายค้านยื่นศาลรัฐธรรมนูญแน่ คาดว่าน่าจะยื่นก่อน 23 ส.ค. เพื่อหวังให้ศาลมีคำสั่งชั่วคราวอะไรออกมาก่อนตัดสิน แต่ที่นี้ ก็อาจมีเหตุการณ์อะไรบางอย่างเกิดขึ้น เช่น ศาลรับพิจารณาช้า ยังไม่มีคำสั่งออกมาก่อนวันดังกล่าว ก็ยื้อให้ “บิ๊กตู่” อยู่ต่อในเก้าอี้นายกฯ ไปเรื่อยๆ จนถึงวันจัดงานเอเปค ที่เป็นที่คาดหวังเรื่องกระตุ้นเศรษฐกิจ

หรือหากศาลรัฐธรรมนูญมีมติออกมา ..ย้อนกลับไปข้างต้น ที่ถ้าเกิดมันยังอีรุงตุงนังกันเรื่องกฎหมายลูกเพื่อการเลือกตั้งยังไม่เสร็จ คือจบ ยังเลือกตั้งไม่ได้ และก็จะมีการตีความให้เป็นคุณกับ “บิ๊กตู่” ได้ว่า “คำว่าอยู่ 8 ปี หมายถึงอยู่ตามวาระ แต่ไม่นับช่วงเวลาการอยู่เพื่อรักษาการ จนกว่าจะมีการเลือกตั้งใหม่ได้” ก็เป็นอีกช่องให้ “บิ๊กตู่”อยู่ต่อ

ก็ต้องกลับไปเช็กกันอีกสักหน่อยว่า “รัฐบาลรักษาการ” มีอำนาจหน้าที่อะไรแค่ไหน ถ้าออกรูปนั้นจริง แต่ปัญหาคือ ถ้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการตัดสิน หรือการตีความกฎหมาย พยายามตะแบงจนขัดหูขัดตาประชาชน ระวังจะเกิดการเดินขบวนประท้วงว่า พยายามสืบทอดอำนาจจนไม่สนหลักเกณฑ์ เอาแต่หลักกู  

เรื่องการพยายามคงอำนาจ มันละเอียดอ่อนต่อความรู้สึก “บิ๊กตู่” ต้องเช็กกระแสสังคมดีๆ.