ทีมนักวิจัยของเกาหลีใต้จากสถาบัน Korea Advanced Institute of Science and Technology (KAIST) ในเมืองแทจอน ได้พัฒนา ‘หมึกอิเล็กทรอนิกส์’ สำหรับสักลายลงบนผิวหนัง รอยสักเหล่านี้ทำจากโลหะหลอมเหลวและท่อนาโนคาร์บอน ทำหน้าที่เป็นอุปกรณ์ตรวจจับทางชีวภาพโดยอาศัยขั้วไฟฟ้า

เมื่อรอยสักเหล่านี้เชื่อมต่อเข้ากับเครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG) หรือเครื่องตรวจจับทางชีวภาพอื่น ๆ มันจะสามารถส่งข้อมูลเกี่ยวกับอัตราการเต้นของหัวใจและสัญญาณชีวภาพอื่น ๆ เช่น ระดับกลูโคสในเลือด, สภาวะออกซิเจนในเซลล์ ของเจ้าของรอยสัก เพื่อนำไปประเมินสุขภาพได้ 

ทีมนักวิจัยตั้งเป้าไว้ว่า จะสามารถผลิตอุปกรณ์ตรวจจับทางชีวภาพเหล่านี้ในระดับที่ประชาชนส่วนมากเข้าถึงได้ 

สตีฟ พาร์ค ศาสตราจารย์วิศวกรรมและวัสดุศาสตร์ ซึ่งเป็นหัวหน้าโครงการ หวังว่าในอนาคต จะสามารถเชื่อมต่อชิพวงจรแบบไร้สายเข้ากับรอยสักเหล่านี้ เพื่อให้สามารถสื่อสารหรือส่งสัญญาณต่าง ๆ ไปมาระหว่างร่างกายของเจ้าของรอยสักและอุปกรณ์ภายนอก 

สตีฟ พาร์ค หัวหน้าโครงการ ‘รอยสักนาโน’

เขาคาดหวังในทางทฤษฎีว่า อุปกรณ์ตรวจจับภายนอกเหล่านี้สามารถติดตั้งได้ในทุกที่ เช่น ในบ้านของผู้ป่วย

หมึกที่ใช้สักเป็นสารที่ไม่ซึมเข้าผิวหนัง ทำจากอนุภาคของกัลเลียม ซึ่งเป็นธาตุโลหะสีเงินที่มีความแข็งน้อยและละลายได้ ส่วนใหญ่จะนำไปใช้ในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์และเทอร์โมมิเตอร์ ส่วนท่อนาโนคาร์บอนจะเป็นตัวนำกระแสไฟฟ้าและช่วยเสริมสร้างความทนทานในการใช้งานไปด้วย

พาร์ค กล่าวว่า เมื่อเพิ่มหลอดนาโนคาร์บอนลงไปบน ‘รอยสักนาโน’ บนผิวหนังแล้ว ต่อให้โดนการเสียดสีหรือถูไถ ก็จะไม่ลอกออกไปง่าย ๆ ขณะที่ถ้าใช้เพียงโลหะเหลวทำรอยสัก จะไม่มีความทนทานเลย

เครดิตภาพ : REUTERS