เมื่อวันที่ 3 ส.ค. นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข กล่าวว่าวันที่ 4 ส.ค. เวลา 08.30 น. สธ.ร่วมกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) เตรียมแถลงข่าวจับกุมเครือข่ายยารักษาโควิดเถื่อน ซึ่งเป็นการขายยาโมลนูพิราเวียร์ทางออนไลน์จากประเทศอินเดีย ที่ไม่มีใบรับรอง พร้อมเตือนการซื้อยาออนไลน์มีความเสี่ยง เพราะไม่รู้ว่าเป็นยาจริงหรือไม่ หรือเป็นแค่แป้ง ซึ่งการแถลงข่าวคงมีรายละเอียดมากขึ้น

“ย้ำว่าไม่ควรซื้อยาออนไลน์กินเอง ยาโมลนูพิราเวียร์เป็นยาควบคุมพิเศษที่ใช้ในภาวะฉุกเฉิน ต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยและสั่งจ่ายยาโดยแพทย์ จะมีความปลอดภัย ต้องเลิกคิดว่ามีโควิดหาหมอแล้วไม่ให้ยา เลยซื้อมาตุนสำรองไว้ที่บ้าน โรคโควิดต้องไม่รักษาตัวเองแบบนี้ ต้องให้แพทย์รักษา กินยาตามคำสั่งแพทย์ อย่าสร้างค่านิยมว่าโรคนี้มียานี้แล้ว ไปซื้อมาเก็บไว้เอง ถ้าไปซื้อร้านขายยา เภสัชกรยังมีข้อแนะนำ แต่ยาโมลนูพิราเวียร์ยังไม่ให้มีการขายในร้านขายยาด้วยซ้ำ” นายอนุทิน กล่าว

นายอนุทินกล่าวว่า ส่วนกรณี นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา พิธีกรรายการเรื่องเล่าเช้านี้ ที่ตั้งคำถามในรายการว่าโมลนูพิราเวียร์มีราคาถูกกว่ายาฟาวิพิราเวียร์ ทำไมจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ไม่จ่ายยาโมลนูพิราเวียร์ ต้องชี้แจงว่า ยาโมลนูพิราเวียร์เราไม่ให้ในเด็กต่ำกว่า 18 ปีและหญิงตั้งครรภ์ ขณะนี้มีการเปิดเรียน มีการเดินทางสัญจรมากขึ้น ดังนั้น เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี หากติดเชื้อต้องรับยาฟาวิพิราเวียร์ ส่วนที่ระบุว่ามีผลต่อตับนั้นไม่จริง หากรับประทานตามแพทย์สั่งจะไม่มีปัญหาใดๆ

“ผู้ป่วยโควิดตอนนี้ หากติดเชื้อควรไปพบแพทย์ ซึ่งย้ำว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะได้ยาต้านไวรัสโมลนูพิราเวียร์หรือฟาวิพิราเวียร์ ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ หากเห็นว่าไม่มีอาการหรืออาการเล็กน้อย อาจไม่ให้ยาหรือให้เพียงยารักษาตามอาการ ซึ่งเชื้อนี้จริงๆ หายใน 7-10 วัน ทุกอย่างขอให้อยู่ในดุลพินิจของแพทย์ ที่ต้องพูดเรื่องนี้เนื่องจากกลัวเข้าใจผิดว่า ทำไมไม่ได้ยา มีความเหลื่อมล้ำหรือไม่ จริงๆ ไม่ใช่ รับรองว่าไม่มี เราใช้ยาตามข้อบ่งชี้ภายใต้การวินิจฉัยโรคและจ่ายยาของแพทย์ องค์การเภสัชกรรมก็เตรียมยาไว้พร้อม ไม่ได้ขาดแคลน” นายอนุทิน กล่าว.