เมื่อวันที่ 4 ส.ค. น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. … ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผลักดันเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายว่า ในฐานะนักกฎหมายมองว่าเป็นผลงานชิ้นโบแดงชิ้นหนึ่งของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ที่เป็นการปฏิรูปกฎหมายครั้งสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมความเป็นธรรม ป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชน ลดภาวะที่เรียกว่าโทษอาญาเฟ้อ นอกจากจะเป็นผลดีต่อประชาชนโดยตรงแล้ว ยังช่วยให้ปรับปรุงให้กระบวนการยุติธรรมทำงานได้มีประสิทธิภาพดีและไวยิ่งขึ้น

น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ปรับเป็นพินัย ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบตั้งแต่เมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2564 และได้ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาเมื่อวันที่ 2 ส.ค. ที่ผ่านมา จึงขอขอบคุณสมาชิกรัฐสภาที่เห็นชอบกับร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ที่จะเป็นกฎหมายกลางในการพิจารณาและกำหนดมาตรการสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายที่ไม่ใช่ความผิดร้ายแรงเกี่ยวข้องกับกฎหมายอีก 204 ฉบับที่เกี่ยวกับโทษอาญา ซึ่งลบล้างวาทกรรม “คุกมีไว้ขังคนจน” ที่ทำให้คนที่ยากจนไม่มีเงินเสียค่าปรับจะไม่มีโทษอาญาบันทึกเป็นตราบาปติดตัวไปตลอดชีวิต เป็นกฎหมายกลางเพื่อประโยชน์ที่แท้จริงของประชาชน เพราะเปลี่ยน “โทษปรับทางอาญาสถานเดียว” ให้เป็น “โทษปรับทางพินัย” ที่ไม่ใช่โทษทางอาญา จะไม่มีการกักขังแทนค่าปรับอีกต่อไป ส่วนค่าปรับก็มีความเป็นธรรมเพราะคิดค่าปรับตามฐานะทางเศรษฐกิจและภาวะวิสัยของการกระทำความผิด ในกรณีที่ผู้กระทำผิดยากจน ศาลจะกำหนดลดค่าปรับลงหรืองดเว้นค่าปรับก็ได้ หรืออาจจะให้ทำงานเพื่อสาธารณะทดแทนและไม่มีการบันทึกทะเบียนประวัติอาชญากรรม

น.ส.ทิพานัน กล่าวอีกว่า กฎหมายฉบับนี้เป็นไปตาม มาตรา 77 แห่งรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ที่กำหนดให้รัฐจัดให้มีกฎหมายเพียงเท่าที่จำเป็น และยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตหรือการประกอบอาชีพโดยไม่ชักช้าเพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน และพึงกำหนดโทษอาญาเฉพาะความผิดร้ายแรง จึงเป็นก้าวสำคัญของการปฏิรูปโครงสร้างระบบความยุติธรรมเพื่อประโยชน์ของประชาชน ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม และบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจากเหตุที่มีกฎหมายกำหนดโทษทางอาญามากเกินไป ซึ่งขั้นตอนต่อไปคือต้องกำหนดขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมขึ้นมาใหม่สำหรับความผิดทางพินัย ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รักษาการตามกฎหมายทั้ง 204 ฉบับนั้น มีอำนาจสั่งปรับทางพินัยได้เลย