เมื่อวันที่ 4 ส.ค. ที่รัฐสภา ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ลงมติ ด้วยคะแนน 169 ต่อ 69 เสียง และงดออกเสียง 3 เสียง ไม่รับหลักการร่าง พ.ร.บ.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. …. ที่นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) กับคณะ เป็นผู้เสนอ วาระ 1 เพื่อให้ใช้แทน พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ฉุกเฉินฯ พ.ศ. 2548

ทั้งนี้ก่อนการลงมติ นายโรม อภิปรายว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ศ. 2548 ที่บังคับใช้อยู่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน และให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่บังคับใช้ข้อกำหนดที่ออกมาโดยได้รับการละเว้นการตรวจสอบถ่วงดุล ส่งผลให้นายกรัฐมนตรีและ ครม.สามารถประกาศขยายระยะเวลาออกไปโดยไม่ถูกคัดค้าน และการยังคง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต่อไป จึงคิดเป็นอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากรัฐบาลเสพติดอำนาจ จึงยังคงกฎหมายพิเศษฉบับนี้เอาไว้เป็นเครื่องมือเพื่อปกป้องอำนาจของตัวเอง

นายรังสิมันต์ กล่าวต่อว่า จากสรุปรายงานของสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และหน่วยความมั่นคงที่เกี่ยวข้องที่ ครม. แนบมาด้วย คือกฎหมายฉบับนี้ช่วยสร้างความมั่นใจให้เจ้าหน้าที่รัฐในการปฏิบัติงาน ตนสงสัยว่า การใช้กฎหมายปกติ มีการตรวจสอบถ่วงดุล ทำให้เจ้าหน้าที่ถึงกับหมดความมั่นใจในการทำงานเลยหรือ การที่มีความมั่นใจจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จึงทำให้สถิติการตั้งข้อหากับประชาชนที่เห็นต่างทางการเมือง มีจำนวนไม่ต่ำกว่า 1,400 คน ทั้งที่เกิดการแพร่ระบาดจากการชุมนุมมีน้อยมาก แต่ปัจจุบันการอ้าง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ปูพรมหว่านแหได้กลายเป็นประเพณีปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ไปเรียบร้อยสิ่งที่ตนเสนอผ่านร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ คือการทวงคืนการตรวจสอบถ่วงดุลกลับคืนมา ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ และรัฐมนตรีทุกคน มีความจริงใจในการแก้ไขปัญหา มีความเคร่งครัดในการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ได้คิดหาเศษหาเลยจากอำนาจที่ได้เพิ่มมา ไม่ได้เป็นพวกที่อยากคงอำนาจล้นเกินไว้เพื่อจะได้ดีดนิ้วได้ตามสะดวก ก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องหวาดกลัวร่างกฎหมายฉบับนี้

ด้านนายอนุชา นาคาศัย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า กลไกตามร่าง พ.ร.บ. นี้ มีผลกระทบโดยตรงต่อประสิทธิภาพของสถานการณ์ฉุกเฉิน และเห็นว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับปัจจุบันมีความเหมาะสม และเป็นธรรมอยู่แล้ว รวมทั้งยังมีมาตรการทางกฎหมายที่เบากว่ากฎหมายต่างประเทศ นอกจากนี้ ยังมีข้อห่วงกังวลต่อการแก้ไข เพราะสถานการณ์ฉุกเฉินต้องมีความรวดเร็วในการทำให้สถานการณ์คลี่คลายเพื่อไม่ให้กระทบต่อการรักษาประโยชน์ของประเทศ ฉะนั้น จึงเห็นว่ายังไม่ควรรับหลักการร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวและเห็นควรบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับนี้ต่อไป

ท้ายที่สุดที่ประชุมลงมติไม่รับหลักการด้วยคะแนน 169 ต่อ 69 เสียง และงดออกเสียง 3 เสียง ซึ่งกว่าจะลงมติได้ ใช้เวลารอสมาชิกแสดงตนเป็นองค์ประชุมกว่า 20 นาที จนในที่สุดครบองค์ประชุม 240 เสียง ซึ่งเกินครึ่งมาเพียง 1 เสียง จากนั้นนายสุชาติ ประธานในที่ประชุม ได้สั่งปิดการประชุมใน เวลา 16.41 น.