เขย่าขวัญกันไปทั้งโลก สำหรับท่าที “สหรัฐอเมริกา-จีน” ที่ทำให้เกิดความกังวลถึงแนวโน้มการเกิดสงครามระลอกใหม่!

สืบเนื่องมาจากความตรึงเครียดจากเหตุการณ์ แนนซี เปโลซี ประธานสภาผู้แทนสหรัฐอเมริกา เดินทางเยือนไต้หวัน เมื่อต้นเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา นับเป็นการเยือนของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐ ครั้งแรกในรอบ 25 ปี ขณะที่ทางการจีนมองว่าการกระทำที่ถือเป็นการแทรกแซงกิจการภายในของจีนอย่างร้ายแรง พร้อมทั้งขู่ขวัญด้วยการทำการซ้อมรบด้วยกระสุนจริงรอบเกาะไต้หวัน และทำหนังสือประท้วงไปยังรัฐบาลสหรัฐ

แน่นอนว่าจากเหตุการณ์เผชิญหน้าของชาติมหาอำนาจดังกล่าว ทำเอาคนครึ่งค่อนโลกอกสั่นขวัญหายไปตามๆกัน แม้หลายคนมองว่ายังไม่ถึงจุดที่จะพัฒนาไปเป็นชนวนเหตุแห่งสงครามระหว่าง “สหรัฐอเมริกา-จีน” อย่างที่กังวล แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อวิกฤติเศรษฐกิจโลก ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักหน่วงจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน เป็นทุนเดิมอยู่แล้วให้เลวร้ายไปมากยิ่งขึ้น

รูปภาพนี้มี Alt แอตทริบิวต์เป็นค่าว่าง ชื่อไฟล์คือ วิเคราะห์-5.jpg

นอกจากสงครามระหว่างประเทศที่ยังต้องลุ้นระทึก ขณะเดียวกันสถานการณ์การเมืองในประเทศไทยก็มีปฏิบัติการ “ประกาศสงคราม” กับความรู้สึกประชาชนเช่นเดียวกัน จากเหตุการณ์ “สภาล่ม” เมื่อวันที่ 3 ส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม แต่บรรยากาศในห้องประชุมกลับเป็นไปอย่างโหรงเหรง สมาชิกรัฐสภาอยู่ในห้องประชุมบางตา การจะลงมติแต่ละมาตราต้องเสียเวลานานมากในการรอสมาชิกมาแสดงตนจนครบองค์ประชุมนานร่วม 25-30 นาที บางมาตราต้องรอองค์ประชุมกันเกือบ 1 ชม. จนสุดท้าย ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ก็ต้องปิดประชุมไปด้วยเหตุผลองค์ประชุมไม่ครบ

ซึ่งงานนี้ก็ถูกตั้งข้อสังเกตว่าเป็น “เกมยื้อกฎหมายลูก” เนื่องจากหลังการพิจารณากฎหมายดังกล่าว มีวาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. จ่อคิวอยู่ อีกทั้งบรรดา ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ และ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ส่วนใหญ่ไม่อยู่ในห้องประชุม จึงทำให้ถูกเชื่อมโยงว่า สาเหตุที่ ส.ส. 2 พรรคใหญ่อยู่ในห้องประชุมกันน้อย เนื่องจากไม่ต้องการให้องค์ประชุมครบ เพราะทั้งสองพรรคไม่ต้องการให้ใช้สูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หารด้วย 500

จึงเล่นเกมไม่ให้องค์ประชุมครบ เพื่อให้ร่างกฎหมายดังกล่าวพิจารณาเสร็จไม่ทันกรอบ 180 วัน ภายในวันที่ 15 ส.ค. นี้ ทำให้ร่างกฎหมายตกไป ต้องกลับไปใช้ร่างกฎหมายฉบับเดิมที่ ครม.เป็นผู้เสนอ โดยใช้วิธีคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อแบบหาร 100 ตามที่พรรคพลังประชารัฐและพรรคเพื่อไทยต้องการ

รูปภาพนี้มี Alt แอตทริบิวต์เป็นค่าว่าง ชื่อไฟล์คือ วิเคราห์-3.jpg

สอดคล้องกับความคิดเห็นอของ วันชัย สอนศิริ ที่ออกมาบอกว่า ดูแนวโน้มแล้วร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ไม่น่าจะพิจารณาได้เสร็จทัน 180 วัน เพื่อต้องการให้กลับไปใช้ร่างกฎหมายฉบับเดิมที่ ครม.เสนอมาคือ การใช้สูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อหารด้วย 100 ทราบว่าเป็นข้อตกลงที่เห็นพ้องต้องกันของฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายค้านจะใช้วิธีนี้ เพราะสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อแบบหาร 500 คงเดินต่อไปไม่ไหว เดินต่อมีแต่ตัน ตก ไปไม่รอด และเมื่อไปถึง กกต. และศาลรัฐธรรมนูญแล้วก็มั่นใจไม่ได้ว่า ผลจะออกมาอย่างไร จึงต้องกลับมาใช้วิธีหาร 100 ทางที่ง่ายที่สุดคือ ให้กฎหมายตกไปเพราะพิจารณาไม่ทันใน 180 วัน ถือเป็นกลไกทางสภา แม้เสี่ยงต่อการถูกด่า เพราะผ่านกฎหมายสำคัญไม่ได้ภายในเวลาที่กำหนดต้องยอม เพราะถือว่าเดินเกมผิดมาแต่แรก

ดังนั้นก็คงจะต้องจับตาดูกันต่อไปว่า ในการประชุมร่วมรัฐสภาสัปดาห์หน้าในวันที่ 9-10 ส.ค. จะเกิดเหตุการณ์ที่ชวนให้คิดได้ว่าเป็นเกม  “สภาล่มยื้อกฎหมายลูก” ขึ้นอีกครั้งหรือไม่

นอกจากวาระร้อนในสภาแล้ว ยังมีวาระร้อนนอกสภาที่ต้องลุ้นระทึก! โดยเฉพาะวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม นับจากวันที่ 23 ส.ค.นี้ เป็นต้นไป จะถือได้ว่าครบวาระ 8 ปีติดต่อกันหรือไม่ ซึ่งเริ่มมีการดำเนินการเพื่อยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยในเรื่องดังกล่าวแล้ว

รูปภาพนี้มี Alt แอตทริบิวต์เป็นค่าว่าง ชื่อไฟล์คือ วิเคราะห์-4.jpg

ทั้งนี้ไม่ว่าผลการตีความวาระ 8 ปี “บิ๊กตู่” จะออกมาในทิศทางใด ล้วนแล้วแต่ส่งผลต่อ “โมเมนตัมอำนาจ” หลังจากนี้ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะหากท้ายที่สุดแล้วศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดว่า การดำรงตำแหน่งนายกฯของ “บิ๊กตู่” เริ่มนับตั้งแต่ปี 2557 ก็จะทำให้ “บิ๊กตู่” ต้องพ้นจากตำแหน่งไปในทันที ซึ่งผลกระทบที่จะตามมาคืออาการระส่ำระสายของพรรคร่วมรัฐบาล เพราะจะต้องหาคนมาเป็นนายกฯแทน โดยในส่วนพรรคร่วมรัฐบาลเหลือบัญชีรายชื่อนายกฯที่พรรคการเมืองเสนอ 2 คน คือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ นายอนุทิน ชาญวีรกูล ซึ่งต้องดูว่าพรรคแกนนำหลักอย่างพรรคพลังประชารัฐจะยอมให้บุคคลที่พรรคอื่นเสนอชื่อเป็นนายกฯหรือไม่ หรือจะเลือกเปิดช่องดึงคนนอกนั่งนายกฯ

หรือหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการดำรงตำแหน่งนายกฯนับตั้งแต่ปี 2560 หรือนับตั้งแต่ปี 2562 ก็จะเท่ากับว่า “บิ๊กตู่” ยังเหลือเวลาดำรงตำแหน่งจนรัฐบาลครบเทอม ในเดือน มี.ค. 2566 ก็จะเท่ากับว่า “ทางสะดวก” และย่อมส่งผลต่อการเดินเกมของ “พี่น้อง 3 ป.” หลังจากนี้ รวมไปถึงแผนระยะยาวไปจนถึงการลงสู้ศึกเลือกตั้งครั้งหน้าเลยก็เป็นได้

รูปภาพนี้มี Alt แอตทริบิวต์เป็นค่าว่าง ชื่อไฟล์คือ วิเคราะห์-1-1024x577.jpg

ทั้งนี้หากจับอาการของ “บิ๊กตู่” จะเห็นได้ชัดว่ามีการลงพื้นที่ถี่มากขึ้น และส่วนใหญ่ล้วนเป็นพื้นที่ฐานเสียงสำคัญของพรรคพลังประชารัฐ และฐานเสียงของพรรคคู่แข่งอย่างมีนัยะสำคัญ ไล่ตั้งแต่ การลงพื้นที่ตรวจราชการที่จังหวัดภูเก็ต เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. ตามด้วยการเดินทางเยือนจังหวัดสกลนคร เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. ลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. ลงพื้นที่กำแพงเพชร เมื่อวันที่ 7 ก.ค. และล่าสุดลงพื้นที่กาญจนบุรี เมื่อวันที่ 4 ส.ค. ที่ผ่านมา

ขณะที่ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ มีการเดินสายจัดโรดโชว์ผลงานพรรคพลังประชารัฐ โดยเวทีแรกจัดไปแล้วที่ จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 10 ก.ค. และเวทีที่สอง ที่จังหวัดหนองคาย วันที่ 6 ส.ค.ที่ผ่านมา

จากบริบทการเดินเกมลงพื้นที่เช็กเสียงวัดเรตติ้งของ “พี่ป้อม-น้องตู่” ถือเป็นสัญญาณที่ค่อนข้างชัดเจนว่า “พี่น้อง 3 ป.” ยังมีแผนระยะยาวในเกมอำนาจ

นอกจากความเคลื่อนไหวของ “พี่น้อง 3 ป.” แล้ว สิ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือการเดินเกม “แตกแบงค์พัน-เสริมนั่งร้าน” โดยพรรคที่ถูกตั้งข้อสังเกตว่าจะกลายมาเป็นตัวแปรนั่งร้านอำนาจ “พี่น้อง 3 ป.” หนีไม่พ้น พรรครวมไทยสร้างชาติ โดยมี พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ขึ้นแท่นเป็นหัวหน้า ขนาบข้างด้วยบรรดาขุนพล กปปส. ทั้ง เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการพรรค วิทยา แก้วภราดัย กรรมการบริหารพรรค ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง กรรมการบริหารพรรค อดีตเลขาธิการพรรครวมพลังประชาชาติไทย และที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ พรรครวมแผ่นดิน ที่มี “บิ๊กน้อย” พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา เป็นหัวหน้าพรรค อดีตหัวหน้าพรรคเศรษฐกิจไทย

รูปภาพนี้มี Alt แอตทริบิวต์เป็นค่าว่าง ชื่อไฟล์คือ วิเคราะห์-2.jpg

ถึงแม้ “บิ๊กตู่” จะออกมาปฏิเสธถึงความเกี่ยวข้องกับ พรรครวมไทยสร้างชาติ และย้ำชัดว่าตอนนี้อยู่กับพรรคพลังประชารัฐที่สนับสนุนเป็นนายกรัฐมนตรี พร้อมทั้งมีแนวคิดที่จะสมัครเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ แต่ก็ยากที่จะทำให้ประชาชนเชื่อได้ว่าทั้ง พรรครวมไทยสร้างชาติ และ พรรครวมแผ่นดิน ไม่ใช่พรรคที่อยู่ภายใต้ร่มเงาของ “พี่น้อง 3 ป.” ภายใต้ยุทธการ “แตกแบงก์พัน” รองรับกติกาเลือกตั้งใหม่

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการเดินเกม “แตกแบงก์พัน” ของ “พี่น้อง 3 ป.” อาจจะกลายเป็นดาบสองคม เพราะการแตกพรรคเล็กภายใต้ฐานเสียงเดียวกับพรรคพลังประชารัฐ แม้ในทางหนึ่งจะเป็นพรรคทางเลือก แต่อีกทางหนึ่งก็จะกลายเป็นการแย่งเสียงกันเองหรือไม่ เพราะฐานเสียงของฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้าน แบ่งกลุ่มกันชัดเจนอยู่แล้ว

ดังนั้นการ “แตกแบงก์พัน-ทำคลอดพรรคเล็กพรรคน้อย” ของฝ่ายรัฐบาล ภายใต้บริบทที่คะแนนนิยมทางการเมืองรัฐบาลตกต่ำเช่นที่เป็นอยู่จึงไม่ได้ช่วยให้ดึงแต้มจากพรรคฝ่ายค้านได้เลย แต่กลับกลายเป็นการตัดแต้มกันเอง จนอาจจะกลายเป็นว่า “แตกร้อยพรรค…แพ้ร้อยครั้ง” หรือไม่.