เมื่อวันที่ 5 ส.ค. ที่ศาลากลางจังหวัดสุพรรณบุรี นายสิทธิกานต์ โสวัสสะ สมาชิกสภาเกษตรกร จังหวัดสุพรรณบุรี นาเสมียน หงษ์โต รักษาการประธานสมัชชาชาวนาไทย ภาคกลาง พร้อมด้วยกลุ่มเกษตรกรชาวนาสุพรรณบุรี อ.บางปลาม้า และ อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี ประมาณ 200 คน นั่งรถอีแต๋น จากสหกรณ์การเกษตร อ.บางปลาม้า ไปศาลากลางจังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อทบทวนโครงการสนับสนุนลดต้นทุนการผลิตด้านการเกษตรสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ผ่านนายณัฐวุฒิ ประเสริฐสุวรรณ ส.ส.สุพรรณบุรี พรรคชาติไทยพัฒนา ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการแก้ไขปัญหาราคาผลิตผลเกษตรกรรมในสภาผู้แทนราษฎร นายชูชีพ พงษ์ไชย รอง ผวจ.สุพรรณบุรี

นายสิทธิกานต์ กล่าวว่า รัฐบาลได้จัดทำโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว โดยการสนับสนุนค่าปรับปรุงคุณภาพข้าว ไร่ละ 100,00 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 20,000 บาท เพื่อช่วยเหลือชาวนาในสภาวะที่ปัจจัยการผลิตมีราคาสูง เช่น ปุ๋ยเคมี สารเคมี และน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งชาวนาก็พอใจกับโครงการดังกล่าว เพราะชาวนาได้รับประโยชน์เป็นอย่างมาก ตลอดจน สภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันส่งผลให้ชาวนามีต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น แต่ราคาผลผลิตตกต่ำ ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน แต่หากเกษตรกรได้รับเงินจากโครงการดังกล่าว ก็จะสามารถนำเงินมาทดแทนส่วนต่างของต้นทุนการผลิตได้

แต่ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ทราบว่ากรมการข้าว มีนโยบายดำเนินการโครงการสนับสนุนลดต้นทุนการผลิตด้านการเกษตรสำหรับเกษตรผู้ปลูกข้าว เพื่อสนับสนุนลดตันทุนการผลิตให้กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าว โดยการจัดซื้อครุภัณฑ์เครื่องจักรกลทางการเกษตรให้กับศูนย์ข้าวชุมชนทั่วประเทศ จำนวน 5,000 แห่ง ใช้งบประมาณ 15,000 หมื่นล้านบาท ซึ่งโครงการดังกล่าว จะส่งผลกระทบกับชาวนาผู้ปลูกข้าวเป็นอย่างยิ่ง และหากมีการโยกงบประมาณจริง ชาวนาก็จะไม่ได้รับผลประโยชน์อย่างใดจากโครงการนี้ สภาเกษตรกรจังหวัดสุพรรณบุรี เห็นด้วยกับโครงการสนับสนุนลดต้นทุนการผลิตด้านการเกษตรสำหรับเกษตรผู้ปลูกข้าว ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566ที่ช่วยเหลือเกษตรกรโดยการแก้ปัญหาสร้างความยั่งยืน สร้างความเข้มแข็งให้กับชาวนา แต่รัฐบาลควรจัดหางบประมาณส่วนอื่นที่มิได้กระทบกับชาวนา เนื่องจากเป็นโครงการที่ต้องใช้เวลาในการบริหารจัดการ แต่ ณ ปัจจุบันชาวนาก็ยังคาดหวังกับโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นโครงการที่สร้างความมั่นคงของรายได้และเป็นหลักประกันรายได้ขั้นต่ำในการประกอบอาชีพการเกษตร รวมทั้ง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำมีน้ำท่วมขังซ้ำซากมาตลอดทุกปี การทำนาต้องพักช่วงจากฤดูน้ำท่วม อย่างน้อย 4 เดือน หลังจากเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว ในช่วงเดือนกันยายน-ธันวาคม ของทุกปี ตลอดจนสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันก็ย่ำแย่ เครื่องอุปโภคบริโภคมีราคาสูง แต่รายได้ของชาวนายังคงตกต่ำ ส่งผลให้เกิดภาระหนี้สิน ทั้งในระบบและนอกระบบเพิ่มขึ้นจึงขอความอนุเคราะห์ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าวแห่งชาติ (นบข.) พิจารณาขยายโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวต่อไปอย่างต่อเนื่องทุกปี จนกว่าสภาพเศรษฐกิจจะดีขึ้น เพื่อชาวนาจะได้มีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นต่อไป

ด้านนายณัฐวุฒิ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการแก้ไขปัญหาราคาผลิตผลเกษตรกรรมในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า จากการที่มีข่าวว่ารัฐบาลจะเปลี่ยนแปลงโครงการช่วยเหลือเกษตรกรไร่ละ 1,000 บาท 20 ไร่ รวมเป็นเงิน 20,000 บาท เปลี่ยนเป็นช่วยเหลือเกษตรกรไร่ละ 700 บาท ไม่เกิน 5 ไร่ เป็นเงิน 3,500 บาท ทำให้กลุ่มเกษตรกรต้องเดินทางมาขอความเป็นธรรม เพราะในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ ต้องลดต้นทุนการผลิตทั้งปุ๋ย น้ำมัน และค่าครองชีพที่สูง เหมือนกับว่ารัฐบาลกำลังถอดสายเครื่องออกซิเจนของผู้ป่วยให้เสียชีวิต เขาจึงต้องรวมตัวกันมาเรียกร้องในครั้งนี้ ส่วนตนได้รับการประสานให้มารับเรื่องด้วย ในการที่จะขอให้ยังคงโครงการ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ไว้ก่อน จนกว่าสถานการณ์เศรษฐกิจจะดีขึ้น.