เมื่อวันที่ 6 ส.ค. นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงการยื่นตีความการดำรงตำแหน่งนายกฯ 8 ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ว่าเป็นการยื่นเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าความเป็นนายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ สิ้นสุดลงในวันที่ 24 ส.ค.65 เนื่องจากดำรงตำแหน่งนายกฯ รวมกันแล้วเกิน 8 ปี ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 82 มาตรา 158 วรรคท้าย มาตรา 170 และมาตรา 264 โดยรัฐธรรมนูญกำหนดให้ ส.ส.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวน ส.ส.ที่มีอยู่ เข้าชื่อยื่นต่อประธานสภาฯ เพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ เข้าใจว่าพรรคร่วมฝ่ายค้านจะยื่นคำร้องได้ประมาณวันที่ 17 ส.ค. นี้ คาดว่าประธานสภาฯ คงจะส่งเรื่องให้ตรวจสอบความสมบูรณ์ของคำร้อง และตรวจสอบรายชื่อสมาชิก น่าจะให้เวลาประมาณ 7 วันบวกลบ ก่อนส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ได้ในเวลาที่อยู่ครบกำหนด 8 ปี ตามเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญกำหนด

สำหรับสาระที่เป็นข้อกฎหมาย คงจะรับรู้โดยทั่วกันแล้วว่ารัฐธรรมนูญมาตรา 264 ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่เป็นอยู่ก่อนรัฐธรรมนูญ 60 ประกาศใช้เป็น ครม.ตามรัฐธรรมนูญนี้ โดยยกเว้นคุณสมบัติบางประการ แต่ที่ไม่ยกเว้นให้คือการเป็นนายกฯ เกิน 8 ปี ที่ทำให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลง ซึ่งเราได้ศึกษาและค่อนข้างมั่นใจว่าต้องพ้น คือเจตนารมณ์ของมาตรา 264 มาตรา 158 ชัดเจนว่ามีจุดมุ่งหมายอย่างไร ซึ่งมิได้มีการระบุว่าต้องเป็นนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 เท่านั้น พร้อมทั้งได้ยกคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ได้วินิจฉัยลักษณะต้องห้ามของรัฐมนตรีในยุค พล.อ.ประยุทธ์ ก่อนรัฐธรรมนูญ 60 ประกาศใช้ คำวิจฉัยในเรื่องกฎหมายไม่มีผลย้อนหลังว่าตีความอย่างไร

“โดยรวมคณะทำงานฝ่ายกฎหมายของฝ่ายค้าน ค่อนข้างมีความมั่นใจว่าคำร้องมีความสมบูรณ์ ทั้งในเรื่องของข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และเจตนารมณ์ เข้าข่ายที่จะทำให้สรุปได้ว่าความเป็นนายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ สิ้นสุดลง” นายชูศักดิ์ กล่าว

ทางด้านนายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะรองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวในเรื่องเดียวกันว่า ตนไม่ได้ดูข้อกฎหมายอะไรมากมาย เพราะตีความไปซ้ายไปขวาได้ แต่นายกฯ ควรยึดเจตนารมณ์ที่รัฐธรรมนูญ ไม่ต้องการให้ใครเป็นนายกฯ เกิน 8 ปี ฝ่ายกฎหมายจะพิจารณาอย่างไร ไม่สามารถบอกได้ว่าใครผิดใครถูก เรื่องนี้นายกฯ ต้องตัดสินใจด้วยตัวเองว่า สังคมส่วนมากคิดอย่างไร เพราะเป็นบุคคลสาธารณะ ต้องดูความรู้สึกของคนหมู่มากด้วย

ส่วนกรณีพรรค พท. จะต่อสู้ยับยั้งกฎหมายลูก ที่รัฐสภาพิจารณาในวาระ 2 ให้มีการแก้สูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อหารด้วย 500 ด้วยการทำให้กฎหมายพิจารณาไม่ทันกรอบเวลา 180 วัน เพื่อกลับไปใช่ร่างที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เสนอเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาที่มีเนื้อหาสำคัญคือคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อด้วยการหาร 100 ว่าร่างที่ ครม.เสนอ ไม่ได้ถือว่าดีกว่าที่มีการปรับปรุงในรัฐสภา แต่สาระสำคัญคือหารด้วย 100 ถามว่าร่างที่พิจารณาในรัฐสภาดีกว่าหรือไม่ บางจุดมีการแก้ไขให้การทำงานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สะดวกขึ้น แต่หลักใหญ่อยู่ที่การคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ

ทั้งนี้ร่างที่กรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาแล้วเสร็จ แต่มีการแก้ไขในรัฐสภาให้หารด้วย 500 กมธ. ของพรรค พท. มองว่าขัดต่อหลักการที่รัฐสภามอบให้พิจารณา เราชี้แจงไปแล้วว่าไม่เคยมีกฎหมายฉบับไหนทำกันแบบนี้ กมธ.เสียงข้างน้อยเขามีโอกาสชนะได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้หลักการที่รับหลักการมา ไม่ใช่หลุดหลักการออกไปเช่นนี้ เมื่อกฎหมายหลุดออกไปจากหลักการเช่นนี้เราจึงเลือกที่จะให้กลับไปที่ร่างเดิมที่ ครม.เสนอ เป็นช่องทางตามรัฐธรรมนูญมาตรา 132 ที่สามารถประกาศใช้เป็นกฎหมายได้เลย 

“กมธ. พรรค พท. และเสียงข้างมาก เราจึงเลือกวิธีนี้ดีที่สุด ไม่ต้องไปถึงศาลรัฐธรรมนูญ ได้กฎหมายลูกที่ยึดตามหลักการที่รัฐสภารับมาในวาระแรกอย่างแน่นอน แต่ถึงอย่างไร สุดท้ายแล้วก็ต้องแล้วแต่เสียงข้างมากในรัฐสภา แต่พรรค พท. จะต่อสู้ทุกทางให้กฎหมายลูกกลับมาหารด้วย 100 เท่านั้น” นายสมคิด กล่าว