ถ้าไม่รักจริงคงทำไม่ได้” เป็นเสียงใส ๆ จาก “สพญ.รัชดาภรณ์ ศรีสมุทร” หรือที่ชาวโซเชียลรู้จักเธอดีในชื่อ “หมอเตี้ย” ซึ่งคุณหมอนั้นมีชื่อเสียงโด่งดังขึ้นมาหลังจากโลกออนไลน์ได้มีการส่งต่อเผยแพร่เรื่องราวจากเพจของเธอ ทำให้หลาย ๆ คนนั้นอดรู้สึกชื่นชมกับ “ความเก่ง+ความใจกล้า” ของเธอไม่ได้ รวมถึงรู้สึก “ประทับใจ” ในเรื่องราวที่ผูกพันกันระหว่าง “คุณหมอตัวเล็ก” กับ “คนไข้ตัวใหญ่” ที่วันนี้ “ทีมวิถีชีวิต” จะพาไปทำความรู้จักกับเธอให้มากขึ้น…

@@@@@@

ภาพชินตา” ของบรรดา FC ของ “หมอโบว์สพญ.รัชดาภรณ์” ก็คือ ภาพคลิปวิดีโอในขณะที่เธอกำลังเตรียมการรักษาให้กับ “คนไข้ตัวใหญ่” ของเธออย่างแคล่วคล่อง สวนทางกับรูปร่างเล็ก ๆ ของคุณหมอ และสิ่งที่ดูเหมือนจะเป็น “เสน่ห์” ที่ทำให้หลาย ๆ คนอดที่จะหลงรักเธอไม่ได้ ก็คือ “รอยยิ้มและอารมณ์ขัน” ของหมอโบว์

เป็นหมอช้างไม่ได้ ถ้าไม่รักช้างจริง ซึ่งการที่ได้มาช่วยรักษาช้างนี้ เอาจริง ๆ มันเป็นความชอบส่วนตัวของโบว์นะ ถึงแม้เงินเดือนจะไม่เยอะ แต่ทำแล้วมีความสุข ทำให้โบว์สามารถทำงานนี้ได้ทุกวันแบบไม่ต้องมีวันหยุดเหมือนอาชีพอื่น เพราะเรามีความสุขทุกวันที่ได้ช่วยช้าง” หมอโบว์บอกเราเรื่องนี้ด้วยน้ำเสียงสดใส พร้อมกับเล่าให้ “ทีมวิถีชีวิต” ฟังว่า เธอมีอาชีพเป็นสัตว์แพทย์ แต่ที่ทำให้คนรู้จักเธอมากขึ้นน่าจะมาจากการที่เธอทำเฟซบุ๊คเพจชื่อ “หมอตัวเล็กกับคนไข้ตัวใหญ่” และช่องยูทูบที่ใช้ชื่อว่า “หมอเตี้ย” ซึ่งเป็นชื่อที่หมอโบว์ตั้งให้ตัวเอง เพื่อให้เหมาะกับรูปร่างและความสูงของตัวหมอโบว์ ซึ่งเรื่องของความสูงนี้ก็เป็นสิ่งที่หมอโบว์คิดว่า เป็นสิ่งเดียวที่ทำให้เธอแตกต่างจากหมอรักษาช้างคนอื่น โดยเธอบอกเราขำ ๆ ว่า…เธอคงเป็น “หมอช้างที่ตัวเล็กที่สุดในประเทศไทย” เพราะสูงแค่ 157 เซนติเมตรเท่านั้น

เอาจริง ๆ โบว์ว่าก็ไม่ได้เตี้ยมากนะ (หัวเราะ) แต่พออยู่กับช้างก็เลยดูเตี้ย ใครเห็นก็แซวว่า เอ้า!…ทำไมเหลือตัวแค่เนี้ย จะฉีดยาช้างถึงเหรอ เราก็รู้ว่าเขาแซว เพราะต่อให้หมอสูง 170 เซนติเมตร ก็ต้องมีเก้าอี้เสริมเหมือนกัน เพราะช้างบางเชือกสูงถึง 3 เมตร ซึ่งความสูงนี้ไม่ได้เป็นอุปสรรคการรักษาช้าง แถมมีประโยชน์แบบคนตัวเล็กด้วย เพราะการทำแผลบางครั้งต้องการคนแขนเล็กเพื่อล้วงทำความสะอาด ซึ่งสัตวแพทย์ที่ โรงพยาบาลช้างกระบี่ ก็เป็นผู้หญิงทั้งหมด” หมอโบว์เล่า

ทั้งนี้ ปัจจุบันหมอโบว์ อายุ 29 ปี เป็นสัตวแพทย์ประจำอยู่ที่โรงพยาบาลช้างกระบี่ โดยเธอเป็นหมอรักษาช้างมาได้ 4ปีแล้ว หรือตั้งแต่เรียนจบจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตนครศรีธรรมราช ทุ่งใหญ่ โดยเธอเล่า “จุดเริ่มต้นการเป็นหมอรักษาช้าง” ว่า ตอนเรียนสัตวแพทย์ เธอก็เรียนการรักษาสัตว์ทุกชนิด แต่ตอนมาฝึกที่โรงพยาบาลช้างกระบี่ทำให้ได้ใกล้ชิดกับสัตว์ตัวใหญ่ชนิดนี้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นความรัก ทำให้เมื่อเรียนจบก็มุ่งมาที่ช้างโดยเฉพาะ

ต้องบอกว่าเหมือนพรหมลิขิต ตอนนั้นไม่มีตำแหน่งว่างเลย ระหว่างรองานโบว์จึงเก็บเกี่ยวประสบการณ์รักษาสัตว์เล็ก กระทั่งวันหนึ่งโรงพยาบาลช้างกระบี่ ซึ่งขณะนั้นเป็นโรงพยาบาลช้างแห่งแรกและแห่งเดียวในภาคใต้ มีช้างป่วยติดเตียงอาการหนัก ต้องการหมอเพิ่ม จึงรีบสมัครทันที ทั้งที่ประสบการณ์ขณะนั้นเป็นศูนย์ (หัวเราะ)”

หมอโบว์ เล่าอีกว่า “น้องบัวสวรรค์” คือ “คนไข้ช้างรายแรก” ของเธอ เป็นช้างป่วยติดเตียง เนื่องจากมีอาการอัมพาตช่วงล่าง โดยหมอโบว์ยอมรับว่าการดูแลช้างป่วยติดเตียงไม่ใช่เรื่องง่าย และปกติช้างที่ตกอยู่ในสภาพแบบนี้มักมีชีวิตอยู่ได้ไม่เกิน 3 เดือน ซึ่งถ้าช้างล้มลง เธอก็ต้องลาออก แต่ที่เธอกล้าอาสารับเคสยากเคสน้องบัวสวรรค์ แม้ประสบการณ์จะยังน้อย เพราะมีรุ่นพี่ที่คอยดูแลให้คำแนะนำ ผนวกกับความอยากรักษาช้างมาก ทำให้ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบไหนเธอก็พร้อมจะสู้เต็มที่ โดยหมอโบว์บอกว่า น้องบัวสวรรค์เป็นหนึ่งใน “คนไข้ไซส์จัมโบ้” ที่เป็น “เพื่อนรัก” ของคุณหมอมาจนถึงปัจจุบัน

เราได้ขอให้เธอช่วยเปรียบเทียบ ระหว่างรักษาช้างกับสัตว์ชนิดอื่น ๆ โดย หมอโบว์ บอกว่า การรักษาช้างยากตรงที่จับบังคับไม่ได้ สัตว์อื่น ๆ ยังจับบังคับได้บ้าง ดังนั้นความยากที่สุดคือ ทำยังไงช้างเขาถึงจะยอมอยู่นิ่ง ๆ เพื่อให้ฉีดยาหรือทำการรักษา แต่ช้างก็มีข้อดีคือ เป็นสัตว์ที่เชื่อฟังมาก ๆ โดยเฉพาะถ้าเขามีควาญอยู่ด้วย เพราะเมื่อควาญบอกให้นิ่ง ช้างก็จะนิ่งทันที แต่ก็มีบ้างที่ไปเจอกับตัวที่ออกจะเฮี้ยว ๆ หน่อย ซึ่งกรณีนี้ หากดูแล้วคงทำให้นิ่งได้ยาก ก็อาจจะต้องใช้วิธีการมัดเขาไว้กับเสา เพื่อไม่ให้ดิ้นจนเกิดอันตราย และเพื่อเซฟสวัสดิภาพของทีมงานด้วย

เขาเหมือนเด็กมาก เวลาฉีดยาหรือทำแผลให้สักอย่าง เขาจะดิ้น จะร้อง ดังนั้นการรักษาช้างจะต้องทำงานเป็นทีมเวิร์ก เพราะนอกจากทีมหมอที่จะต้องแตะมือสลับเวรกันแล้ว ยังต้องมีทีมผู้ช่วยอีก 4-5 คน คอยดูแลความปลอดภัยให้ด้วยขณะที่ทำการรักษา หรือช่วยผสมยาและส่งอุปกรณ์ให้ ซึ่งที่ขาดไม่ได้คือควาญหรือเจ้าของช้าง เพราะคือคนที่ช้างไว้ใจที่สุด ซึ่งถ้าควาญอยู่ข้าง ๆ นี่จะรู้สึกอุ่นใจมาก เพราะช้างอาจจะตื่นกลัวหมอ เหมือนกับเด็กกลัวคนแปลกหน้า และถ้าหากเขาเกิดกลัวขึ้นมา ก็จะทำทุกอย่างเพื่อป้องกันตัวเอง” หมอโบว์บอกเรื่องนี้

พร้อมกับได้ยกเคสมาเล่าให้ฟังว่า อย่างมีช้างตัวหนึ่งโดนกระเบื้องแทงเท้า แต่ช้างไม่ยอมให้หมอไปทำอะไรเลยกับเท้า เอาแต่จะหนี ไม่ว่าเจ้าของช้างหรือควาญช้างจะทำยังไงก็ไม่ยอม ซึ่งวันแรกทีมหมอเข้าไปทำแผลไม่ได้ จนต้องเปลี่ยนวิธีการใหม่ ด้วยการเอาอาหารมาล่อ เพื่อให้เขารู้ว่า ที่นี่ไม่มีอันตราย พอเริ่มไว้ใจ ช้างก็จะเดินเข้ามาหาเอง ซึ่งนี่ก็เป็นอีกหนึ่งความยากของการรักษาช้าง เพราะบางครั้งต้องใช้เวลานานหลายวันกว่าที่ช้างจะยอมให้เข้าถึงตัว ซึ่งกับกรณีนี้เป็นเพียงอาการเล็ก ๆ แต่ถ้าเป็นเคสหนัก ๆ ที่ช้างมีความเสี่ยงจะเสียชีวิต ถ้าช้างเสี่ยงล้ม การทำงานจะดุเดือด จะบู๊ล้างผลาญมากขึ้นแบบทวีคูณ เช่น ถ้าเป็นเคสฉุกเฉิน ช้างมีเลือดไหลไม่หยุด ถ้าเป็นเคสแบบนี้ทีมหมอก็จำเป็นต้องใช้การจับบังคับอย่างดุเดือด

การรักษาช้างสักเชือก จะหนักหรือเบาก็ต้องมีทีมงานช่วยตลอด ช้างเป็นสัตว์ที่ไม่สามารถรักษาคนเดียวได้ อย่างน้อยต้องมีเจ้าของหรือควาญที่เข้าหาช้างได้ ซึ่งจะเป็นคนบอกเราว่าตอนไหนเข้าได้เข้าไม่ได้ หมอไม่สามารถเข้าหาช้างได้หากไม่รู้จักนิสัยช้างเชือกนั้นก่อน เพราะแทนที่เราจะช่วยเขาให้พ้นอันตราย เราอาจจะตกอยู่ในอันตรายเสียเองก็ได้ และนอกจากเจ้าของช้างแล้ว ที่ต้องมีอีกตำแหน่งคือควาญช้างประจำโรงพยาบาล ซึ่งเขาจะช่วยเซฟหมอ และช่วยอำนวยความสะดวกให้”

หมอโบว์เล่าถึงภารกิจให้ฟังต่อไปว่า ช้างที่รักษาอยู่ในโรงพยาบาลเป็นช้างที่แอดมิด ที่ต้องรักษาต่อเนื่อง ส่วนเคสฉุกเฉิน ช้างที่ไม่สามารถขนย้ายมาที่โรงพยาบาลได้ ทีมหมอก็ต้องไปหาช้างเอง โดยบางเคสที่เจอมา บางครั้งช้างไปลากไม้อยู่ในป่า เอารถเข้าไปได้เพราะทางลำบาก ก็ต้องขนยาและอุปกรณ์เดินเท้าเข้าไป แต่ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรค เพราะที่โรงพยาบาลมีโครงการ “หมอสัญจร” อยู่แล้ว ซึ่งเป็นการออกไปตรวจสุขภาพช้างเป็นประจำ ใช้เวลาออกตรวจครั้งละ 1 เดือน ซึ่งทีมหมอสัญจรจะไม่ได้กลับบ้านเลยจนกว่าจะเสร็จสิ้นภารกิจในการออกตรวจช้างทุกเชือกในภาคใต้ ซึ่งมีอยู่เกือบ 1,000 เชือก

ช้างแอบอยู่ตรงไหน หมอก็ไปตรวจสุขภาพให้หมด ทั้งหมดเป็นบริการฟรี ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นช้างลากไม้ ซึ่งปกติช้างต้องได้รับการถ่ายพยาธิ 6 เดือนครั้ง ไม่งั้นจะมีปัญหาเรื่องระบบลำไส้ หมอกับทีมงานก็แพลนไว้ว่าปีหนึ่งจะต้องออก 2 ครั้ง หลัก ๆ คือตรวจพยาธิ จ่ายยาบำรุง ยาทั่วไปตามอาการโรค”เป็นภารกิจของหมอโบว์และทีมหมอกับทีมดูแลช้าง ที่นอกจากจะดูแลรักษาช้างในโรงพยาบาลแล้ว ก็ยังต้องบุกป่าฝ่าดงเพื่อไปดูแลสุขภาพให้กับช้าง

เราถามถึง “ค่าตอบแทน” ที่ได้รับ หมอโบว์ ตอบว่า ถ้าเป็นคนพอเพียงก็อยู่ได้นะ โดยเธอเทียบประสบการณ์ตอนที่เป็นหมอในคลินิกรักษาสัตว์เล็กว่า เป็นหมอในคลินิกจะต้องมีความน่าเชื่อถือเป็นหลัก ผมเผ้าต้องสะอาดเรียบร้อย แต่งหน้าแต่งตัวสวย ต้องใช้อุปกรณ์ชโลมผิวอะไรเยอะ ค่าใช้จ่ายก็เยอะตามไปด้วย แต่พอมาเป็นหมอรักษาช้าง ต้องทำงานกลางแดด ทำให้ไม่จำเป็นต้องซื้อของพวกนี้ใช้ จึงทุ่นค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ลงไปได้เยอะ “ถามว่าเงินเดือนพอไหม มันขึ้นกับภาระของแต่ละคน สำหรับโบว์ โบว์มีคุณแม่ที่เป็นอัลไซเมอร์ โดยคุณแม่เคยเป็นครู แต่ต้องลาออกเพราะป่วย ซึ่งตอนนั้นหมอเครียดมาก เคยคิดจะลาออกเพื่อมาดูแลคุณแม่ แต่เจ้านายเขาก็เรียกมาคุยเพื่อหาทางออกให้ เพราะเขาไม่อยากให้ลาออก เนื่องจากหมอช้างหายากมาก ก็สรุปคือคุณพ่อออกจากงานมาดูคุณแม่ และจ้างพยาบาลพิเศษมาดูแลด้วย เรียกว่าค่าใช้จ่ายแต่ละเดือนสูงมาก ทำให้เราเลยต้องมีอาชีพเสริม เช่น ขายสินค้าออนไลน์ และไลฟ์สดคล้ายเป็นวีเจพูดคุยกับคนที่เข้ามาดู และรับงานรีวิวสินค้าด้วย เพื่อที่จะมีรายได้หลาย ๆ ทางมาช่วยดูแลครอบครัว”เป็น “ชีวิตเบื้องหลัง” ของเธอคนนี้ ที่ “ต้องสู้ไม่น้อย”

@@@@@@

ก่อนเอ่ยลากัน “ทีมวิถีชีวิต” ถามย้ำ “หมอโบว์สพญ.รัชดาภรณ์ ศรีสมุทร” ว่า “จะเป็นหมอช้างต้องมีคุณสมบัติอะไรบ้าง?” โดยเธอตอบว่า อันดับแรกคือ “ใจรัก” เพราะเงินเดือนหมอช้างไม่ได้มาก ต่อมาคือ “ใจกล้า” เพราะงานนี้มีความเสี่ยงอยู่เช่นกัน สุดท้ายคือ “ใจอดทน” เพราะการรักษาบางทีก็นานกินเวลาหลายเดือน แต่เธอก็บอกว่า ทั้งหมดไม่ยากเกินตั้งใจ โดยเฉพาะถ้าได้ลองอยู่ใกล้ ๆ “คนไข้ตัวใหญ่” ของเธอสักครั้งแล้วล่ะก็

จะต้อง “ตกหลุมรัก”.

เชาวลี ชุมขำ : รายงาน