ประเทศไทยเพิ่งเปิดประเทศ หลังผ่อนคลายสถานะการณ์โควิด-19 ได้เกิดเหตุอันสะเทือนใจคนไทยอีกครั้งหนึ่ง ไฟไหม้ผับชลบุรี ริมถนนสุขุมวิท หมู่ 7 ต.พลูตาหลวง อ.สัตหีบ เมื่อคืนวันที่ 5 ส.ค. 65 เวลา 01.00 น. ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 15 ราย บริเวณหน้าประตู 4 ราย ในห้องน้ำชาย 3 ราย หลังบูทดีเจ 1 ราย ในบริเวณแคชเชียร์ 2 ราย หน้าแคชเชียร์ 3 ราย เสียชีวิตที่ รพ. 2 ราย และผู้บาดเจ็บอีกกว่า 40 นับเป็นความสูญเสียครั้งใหญ่ หลังจากเมื่อ 14 ปีก่อน เคยเกิดเหตุไฟไหม้ “ซานติก้าผับ” ย่านเอกมัย ในค่ำคืนส่งท้ายปีเก่า 31 ธ.ค. 51 ซึ่งครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิต 67 ราย บาดเจ็บกว่า 200 คน นั้น

ดร.สุพรรณ ทิพย์ทิพากร หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า พื้นที่เกิดเหตุเป็นสถานบริการเปิดบริการเมื่อเดือน มิ.ย. 65 บนพื้นที่ 3 ไร่ โดยเหตุร้ายเริ่มจากมีประกายไฟแถวเวทีบริเวณหลังคา ซึ่งมีการเดินไฟสปอตไลต์สีอย่างหนาแน่น ซึ่งหากทำไม่ได้มาตรฐาน หรือมีการใช้ไฟเกินกำลัง ก็อาจทำให้สายไฟเกิดการลัดวงจร ก็อาจเป็นต้นเหตุทำให้เกิดลุกลามไปยังแผ่นซับเสียงติดไฟลามไปทั่วอาคารได้เร็ว ตามข้อกำหนดทางกฎหมายนั้นมาตรฐานมีอยู่แล้วเพื่อความปลอดภัย แต่ความย่อหย่อนในการบังคับใช้กฎหมาย อาจมีส่วนทำให้เกิดความสูญเสียที่ป้องกันได้และไม่น่าจะเกิด กลายเป็นการล้อมคอก ซึ่งไม่นานก็ลืมเลือนกับบทเรียนที่เคยมีมา ดังเช่นไฟไหม้ผับซานติก้า ปี 51 ซึ่งประตูทางออกมีน้อย ผู้คนวิ่งเบียดเสียดล้มทับเสียชีวิต ขาดระบบดับเพลิง การติดตั้งไฟฉุกเฉิน หรือการแสดงเส้นทางหนีไฟไม่ชัดเจน

ลักษณะของอาคาร เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า เดิมเป็นร้านอาหาร ที่ต่อมาได้มีการต่อเติมและเปิดเป็นสถานบริการมีดนตรีสด เครื่องดื่ม ขนาดหน้ากว้างประมาณ 20 เมตร ลึก 30 เมตร สูง 5-6 เมตร โครงสร้างเหล็ก หลังคามุงด้วยแผ่นเมทัลชีท ภายในบุด้วยวัสดุแผ่นซับเสียงซึ่งติดไฟได้ง่าย และระบบเดินสายไฟฟ้าอาจมีความเสี่ยงซึ่งรอฝ่ายเจ้าหน้าที่ตรวจพิสูจน์หลักฐาน และไม่พบอุปกรณ์เครื่องตัดกระแสไฟ จะเห็นว่ามีหลายส่วนที่ไม่ถูกต้องตามมาตรฐานความปลอดภัย เช่น ด้านหน้ามีทางออกทางเดียว ซึ่งตามกฎหมายสำหรับสถานบริการที่จุคนได้สูงสุด 400 คน จะต้องมีทางหนีไฟ (Fire Exit) ไม่น้อยกว่า 3 แห่ง ซึ่งหากมีเวทีแสดงก็จะต้องมีประตูหนีไฟเพิ่มอีก 1 จุด ด้านหลังเวทีโดยผลักออกได้ทางเดียว แต่ในที่เกิดเหตุมีประตูหลักด้านหน้าเป็นบานกระจกคู่ ด้านข้างมีอีก 1 ประตู แต่ตกแต่งสีกลมกลืนกับผนังในอาคาร มีเพียงพนักงานที่ทราบ ส่วนด้านหลังเป็นประตูธรรมดาบานเดียว มีถังดับเพลิงเพียง 2 ชุดเท่านั้น สถานบริการประเภท ค ซึ่งมีพื้นที่มากกว่า 500 ตารางเมตร จะต้องมีระบบดับเพลิงอัตโนมัติที่มีประสิทธิภาพ เพียงพอและเหมาะสม การบุผนังและเพดานด้วยแผ่นซับเสียงซึ่งทำมาจากโพลีสไตลีน หรือโพลียูรีเทน หรือ โพลีโพพีลีน ทนไฟได้เพียง 200 กว่าองศาเซลเซียส สามารถลุกติดไฟได้ก็ขัดกับกฎกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการก่อสร้างโรงมหรสพ ที่ระบุให้ต้องใช้แผ่นซับเสียงหรืออุปกรณ์ที่ทนไฟได้เกิน 750 องศาเซลเซียส แม้ราคาจะสูงกว่าแต่มีความปลอดภัย การขาดระบบไฟฉุกเฉิน หรือจ่ายไฟฟ้าสำรอง เมื่อเกิดเหตุไฟไหม้หรือไฟฟ้าดับ ภายในสถานบริการต้องมีเครื่องหมายแสดงเส้นทางฉุกเฉิน ระบบสัญญาณเตือนเพลิงไหม้และไฟส่องสว่าง

ในการแก้ปัญหาและป้องกันการเกิดซ้ำที่นำมาซึ่งความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนและนักท่องเที่ยว มี 10 ข้อเสนอแนะสำหรับผู้ประกอบการสถานบริการและสถานบันเทิง ดังนี้ 1.การออกแบบอาคารและก่อสร้างต้องคำนึงถึงมาตรฐานทางวิศวกรรมความปลอดภัย รวมทั้งการระบายควันจากอัคคีภัย และปฏิบัติตามกฏหมายควบคุมอาคาร “ราชกิจจานุเบกษา กฎกระทรวง กำหนดประเภทและระบบความปลอดภัยของอาคารที่ใช้เพื่อประกอบกิจการเป็นสถานบริการ พ.ศ. ๒๕๕๕” เช่น มีจำนวนทางหนีไฟ (Fire Exit) ตามที่กำหนด มีระบบดับเพลิงอัตโนมัติที่มีประสิทธิภาพ เพียงพอและเหมาะสมกับจำนวนพื้นที่และผู้มาใช้บริการ การเดินสายไฟฟ้า ระบบเสียงและระบบสัญญานต่างๆ ให้เดินในรางหรือร้อยท่อสายไฟซึ่งทำด้วยโลหะ ต้องฝึกซ้อมแผนฉุกเฉิน เป็นต้น 2.ต้องมีระบบสายไฟฟ้าที่มีมาตรฐานที่ออกแบบวางแผนตามหลักวิศวกรรม พร้อมอุปกรณ์ตัดไฟ และติดตั้งโดยผู้เชี่ยวชาญทางวิชาชีพ 3.ควรติดตั้งแบบแปลนแผนผังอาคาร ซึ่งแสดงตำแหน่งที่ติดตั้งอุปกรณ์ดับเพลิง ทางหนีไฟ ทางออก และประตูทางออก ไว้ในตำแหน่งที่ผู้มาใช้บริการเห็นได้ชัดเจน 4.จัดให้มีระบบไฟฟ้าสำรอง สำหรับระบบสัญญาณเตือนเพลิงไหม้ ไฟฉุกเฉิน ป้ายบอกทางหนีไฟชนิดเรืองแสง 5.ควบคุมความจุคนของผู้ใช้บริการ หรือผู้ที่เข้าร่วมงานที่มีความเหมาะสม เพื่อความปลอดภัย ในการใช้อาคาร 6.ควรฝึกซ้อมแผนฉุกเฉินแก่พนักงาน เพื่อเป็นผู้นำแก่ลูกค้าในยามเกิดเหตุ โดยกำหนดบุคคลและบทบาทหน้าที่ชัดเจนในดูแลระบบความปลอดภัยและการป้องกันอันตรายจากอัคคีภัยตลอดเวลาที่เปิดบริการ และเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน ใครต้องทำอะไร 7.ก่อนเปิดบริการหรือจัดงานอีเวนต์ ควรจัดให้มีการตรวจสอบเครื่องดับเพลิง หรืออุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในการดับเพลิงให้มีความพร้อมใช้งานได้ตลอดเวลาที่มีการเปิดบริการ 8.ระหว่างจัดงานหรือเปิดบริการ ควรประชาสัมพันธ์ให้ผู้ใช้บริการและผู้เข้าร่วมงานทราบ ถึงทางเข้าออกและทางหนีไฟ รวมทั้งข้อควรปฏิบัติกรณีเหตุฉุกเฉิน 9.วัสดุโฟมซับเสียงหลีกเลี่ยงการตกแต่งอาคารสถานที่ด้วยวัสดุตกแต่งที่ติดไฟง่ายหรือลามไฟเร็ว และงดการใช้อุปกรณ์เอฟเฟกต์ ของเล่น ที่ทำให้เกิดประกายไฟในสถานที่จัดงานหรือสถานบริการโดยเด็ดขาด และ 10.ควรพิจารณาทำประกันภัยเพื่อคุ้มครองเหตุที่อาจเกิดโดยไม่คาดคิด

สำหรับข้อแนะนำสำหรับประชาชน มีดังนี้ 1.การใช้บริการของสถานบริการและสถานบันเทิง ควรตรวจสอบการใช้งานของระบบป้องกันอัคคีภัยของอาคาร และบริเวณโดยรอบสถานบริการ 2.ศึกษาข้อมูลเส้นทางหนีไฟ ประตูฉุกเฉินภายในอาคารที่เข้าไปใช้บริการ 3.กรณีเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น ผู้มาใช้บริการต้องมีสติสัมปชัญญะ และควรปฏิบัติตามคำแนะนำของผู้ประกอบการหรือผู้จัดงานอย่างเคร่งครัดตามที่มีการประชาสัมพันธ์ให้ทราบ 4.หมอบคลานต่ำหรือย่อตัวใกล้กับระดับพื้นมากที่สุด เนื่องจากอากาศบริสุทธิ์อยู่เหนือระดับพื้นไม่เกิน 1 ฟุต เพื่ออพยพไปสู่ประตูทางออกฉุกเฉินที่ใกล้ที่สุด และ 5.หากเป็นอาคารสูง งดการใช้ลิฟต์ หรือบันไดในอาคารในการอพยพ ควรใช้บันไดหนีไฟนอกอาคาร เพื่อลดความเสี่ยงจากการสูดควัน.