แน่นอนว่าบรรดาฝ่ายค้าน นักวิชาการด้านกฎหมายบางส่วนเห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ครบกำหนดนั่งบนเก้าอี้นายกรัฐมนตรีครบ 8 ปี เมื่อนับจากครั้งแรกที่ พล.อ.ประยุทธ์ ได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นนายกฯ เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2557 หลังการรัฐประหารเดือน พ.ค. 2557 ซึ่งจะครบในวันที่ 23 ส.ค.นี้

ทว่ากรูนักกฎหมายตีความแตกต่างกันแบ่งเป็น 3 กรอบเวลา กรอบแรก นับตั้งแต่วันที่ พล..ประยุทธ์ ได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นนายกฯ ครั้งแรกวันที่ 24 ส.ค. 2557 ครบ 8 ปี วันที่ 23 ส.ค. 2565, กรอบเวลาที่สองครบกำหนดวันที่ 5 เม.ย. 2568 หรือ 8 ปี นับจากวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 เมื่อวัน 6 เม.ย. 2560

และกรอบที่สาม วันที่ 8 มิ.ย. 2570 ครบ 8 ปี นับตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ ได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นนายกฯ ครั้งที่ 2 หลังการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2562

หากประเมินดูจากท่าที “เนติบริกร” วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ที่แบะท่าเชิญชวนให้คนที่ติดใจสงสัยไปร้องศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยได้ เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำตอบ และทางออกในเรื่องนี้ ขณะที่ “บิ๊กตู่” ระบุว่า “ให้ไปถามศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้กังวลอะไร” เช่นเดียวกับ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ยืนยันว่า พล.อ.ประยุทธ์ ยังหัวเราะสบายใจ ไม่มีอะไรต้องเครียดกับปม 8 ปี

แต่ที่แน่ๆ ต้องมีคนยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ตามรูปการณ์แนวต้านปฏิบัติการทักท้วง “ความชอบธรรม” ของผู้นำที่นั่งเก้าอี้มาอย่างยาวนานครบ 8 ปี เต็มกลืนพอทนแล้วกับการคืนความสุขของ “ลุงตู่” โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย “นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว” ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ออกมาประกาศว่า “พรรคเพื่อไทย และพรรคร่วมฝ่ายค้าน จะยื่นศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 17 ..นี้ โดยมีคำร้องประกอบแล้ว คือ 1.ขอให้พ้นจากตำแหน่งหน้าที่ 2.ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ไปก่อน โดยมีนายกฯ รักษาการ”

แต่ทั้งหมดทั้งมวล ปมนั่งเก้าอี้นายกฯ ครบ 8 ปี ถือเป็นระเบิดลูกสุดท้ายที่ “รัฐบาลประยุทธ์ 2” ต้องเผชิญ หาก “บิ๊กตู่” เอาตัวรอดได้ รัฐบาลก็ยังเดินหน้าอยู่ได้ต่อไปจนครบเทอม และมีสิทธิลุ้นเป็น “นายกฯ สมัย 3” ในการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นในปี 2566 ต่อไป แต่หากมีอันต้อง “หลุดจากตำแหน่ง” ในเดือน ส.ค. 2565 นี้ ก็ต้องยุติการทำหน้าที่ ก็จะมีนายกฯ รักษาการ เข้ามาทำหน้าที่แทน โดยนายกฯ รักษาการ คนที่ 1 คือ “บิ๊กป้อม” เพื่อไม่ให้เกิดสุญญากาศ

หลังจากนั้น “ชวน หลีกภัย” ประธานรัฐสภา ต้องจัดการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อให้มีการโหวตเลือกนายกฯ คนใหม่ โดยบุคคลดังกล่าวจะต้องได้รับเสียงโหวตเกินครึ่งหนึ่งจากรัฐสภาจากทั้ง ส.ส. และ ส.ว. สุดท้ายนี้ คนชี้ขาดด่านสุดท้ายหนีไม่พ้นศาลรัฐธรรมนูญ คงต้องรอลุ้นกัน อีกไม่นานเกินรอ คงได้รู้กันว่าอนาคตทางการเมืองของ “บิ๊กตู่” จะได้ “ไปต่อ”  หรือ “จบลง” เพียงเท่านี้.