เมื่อวันที่ 8 ส.ค. ศ​.ดร.สุชาติ​ ​ธา​ดา​ธำ​รง​เวช​ อดีต รมว.คลัง​ และอดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกระแสข่าวที่มีการเสนอให้ไทยขึ้นดอกเบี้ยแรงๆ เพื่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อ ว่า 1.เราต้องแยกแยะ​เงินเฟ้อที่เกิดขึ้นว่า​ เป็นด้านพิมพ์เงินมาใช้มากเกินไป​แบบสหรัฐ​ (Demand​ pull inflation) หรือด้านต้นทุนนำเข้า (Cost push inflation) ออกจากกัน ประเทศไทยเป็น​ Cost push inflation หากขึ้นดอกเบี้ย​ ก็จะลดเงินเฟ้อได้น้อยมาก​ ราคาน้ำมัน ราคาปุ๋ยก็คงไม่ลดลง​ แต่จะทำเศรษฐกิจ​ที่เพิ่งเริ่มฟื้นตัว​กลับไปถดถอย​ ทำให้ประชาชนยากจนลงเพราะต้องจ่ายดอกเบี้ยมากขึ้น​ เศรษฐกิจ​ไทยจะแย่ลง​ คนตกงานและรายได้ประชาชนลดลง​

2.รัฐบาลต้องดูแลประชาชนให้มีงานทำ​ มีรายได้​​เพิ่มขึ้นเร็วกว่าเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น​ การแนะนำให้ขึ้นดอกเบี้ยมากๆ​ เพื่อ (ก) เพิ่มต้นทุนการกู้ยืมของประชาชน​ ลดการบริโภค​ ลดการลงทุน​ ลดรายได้ภาษี​รัฐบาล​ (ข)​ เพื่อทำค่าเงินบาทให้แข็ง​ขึ้น เพื่อลดความสามารถในการส่งออกและในการดึงดูดคนต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยว​ ทั้ง​ 2 ประการจะทำให้​เศรษฐกิจ​จริง (GDP)​ ลดลง​ ทำให้ประเทศไม่พัฒนา​ ประชาชนไม่มีงานทำ ไม่มีรายได้​ และยากจนลงมากขึ้น

3.ในช่วงนี้​จะให้ดี​ เพื่อลดเงินทุนระยะสั้นไหลออก​ อาจขึ้นดอกเบี้ยน้อยๆ​ แบบค่อยเป็นค่อยไป​ โดยดูสถานการณ์​โลก เพื่อลดส่วนต่างดอกเบี้ยลงบ้าง แต่ไม่จำเป็นต้องให้ดอกเบี้ยสูงเท่าสหรัฐ​ ทั้งนี้เพื่อให้ค่าเงินบาทไม่แข็งค่าเกินไป เพื่อรักษาอัตราการเพิ่มการส่งออกและการท่องเที่ยวจากต่างชาติ​, เพื่อเพิ่มรายได้ประเทศ​ เพิ่มรายได้ประชาชน​และเพิ่มการลงทุน ​และควรเพิ่มอัตราค่าแรงขั้นต่ำ​ ให้เกินอัตราเงินเฟ้อ​ที่เพิ่มขึ้น

ทางด้าน นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีต รมว.คลัง ในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โพสต์ในเฟซบุ๊กว่า เงินเฟ้ออันเกิดจากต้นทุนวัตถุดิบราคาสูงขึ้น (Cost-push Inflation) ไม่สามารถแก้ได้ด้วยการขึ้นดอกเบี้ย

ผมไม่เห็นด้วยกับการขึ้นดอกเบี้ยแรง นอกจากจะไม่ได้ผลดี แล้วยังทำลายศักยภาพของกลไกการส่งออกและนำเข้าที่จะช่วยให้เศรษฐกิจเติบโต และการแก้ปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด เสียในคราวเดียวอีกด้วย สิ่งที่ควรต้องทำคือ คิดหาวิธีเพิ่มรายได้ให้ประชาชนในทุกภาคส่วน ทั้งคนเมืองและคนชนบทต่างหาก

แม้เงินเฟ้อจะไม่ใช่สิ่งที่พึงปราถนาในภาวะปกติ แต่ถ้าไหนๆจะต้องเผชิญภาวะเงินเฟ้ออันเกิดจากของแพงระดับโลกอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้แล้ว เราต้องทำให้เราได้ข้อดีของภาวะเงินเฟ้อ ที่ผู้คนมีรายได้ดีขึ้นให้เพียงพอ คือสามารถ “ด้อยค่าหนี้” ทั้งหนี้สาธารณะ และหนี้ครัวเรือน

(โพสต์นี้พูดจริง ไม่ได้ประชดเสียดสีผู้รู้ท่านใด ขอเพียงโปรดทบทวนตั้งสติให้ดี… ตัดสินใจผิดชีวิตเปลี่ยน… ตัดสินใจถูกชีวิตดี แม้จะต้องทวนกระแสความคิดที่มักคุ้นชิน)