เมื่อเวลา 08.30 น. วันที่ 9 ส.ค. ที่รัฐสภา นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กล่าวถึงแนวทางการพิจารณา ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ในวันที่ 10 ส.ค.65 ว่าขณะนี้ยังต้องรอการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.กำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ. …. ซึ่งเป็นร่างกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูปที่ยังเหลือการพิจารณาอีก 4-5 มาตรา หากผ่านบังคับใช้ได้ก็จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ส่วนร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.จะเดินหน้าไปได้อย่างไรหรือไม่ ต้องยอมรับความจริงว่า ขณะนี้เป็นสถานการณ์พิเศษ ก่อนหน้านี้การไม่แสดงตนเป็นองค์ประชุมก็เป็นมาตรการหนึ่งที่สมาชิกทุกฝ่ายเคยใช้กันมา แต่ไม่เคยมีครั้งใดที่ยอมรับกันอย่างเปิดเผยว่าการไม่แสดงตนเป็นองค์ประชุมเป็นความจงใจและเป็นกลยุทธ์ในการต่อสู้ทางการเมือง ทั้งนี้ตนเคารพการแสดงความเห็น แต่ตนเห็นต่างที่จะใช้วิธีดังกล่าวเพราะหากเห็นว่ากฎหมายไม่ถูกต้องยังมีกระบวนการหลังจากวาระ 3 อีก 2 แนวทาง คือ 1. กกต.ยังจะต้องให้ความเห็นกลับมายังรัฐสภาซึ่งจะต้องตัดสินใจอีกครั้งหนึ่ง และกรณีที่ กกต.เห็นต่างอาจจะโหวตไปตามการแก้ไขของ กกต.ได้ 2.ช่วงก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ยังสามารถยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญซึ่งจะเห็นว่ามีขั้นตอนตามปกติที่บัญญัติไว้ถึง 2 ช่องทาง

“จริงอยู่ที่ว่าหากไม่แล้วเสร็จภายใน 180 วัน จะถือว่ารัฐสภาให้ความเห็นชอบกับร่างฉบับที่ ครม.เสนอ แม้จะเป็นหนทางที่สั้นที่สุดและได้ผลและได้ผลดีที่สุด โดยไม่ต้องเกรงอะไรทั้งสิ้น แต่เราควรจะต้องชั่งน้ำหนักเทียบกับความรู้สึกประชาชนด้วย ซึ่งผมคิดว่า ประชาชนส่วนใหญ่มีความเชื่อว่าหน้าที่พื้นฐานของสมาชิกรัฐสภา คือการเข้าร่วมประชุมพิจารณาร่างกฎหมาย และทำตามระเบียบวาระ” นายคำนูณ กล่าว

เมื่อถามว่า หากการประชุมร่วมรัฐสภาวันที่ 10 ส.ค. องค์ประชุมล่มจะทำให้ประชาชนผิดหวังต่อการทำหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาหรือไม่นั้น นายคำนูณ กล่าวว่า หลายปีที่ผ่านมาเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของประชาชนต่อ ส.ส. และ ส.ว.มีประเด็นมาโดยตลอด ครั้งนี้หากไม่ครบองค์ประชุม ไม่ว่าขั้นตอนใด ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด ตนเชื่อว่าประชาชนจำนวนหนึ่ง ย่อมจะไม่เข้าใจ และไม่เห็นด้วยกับการกระทำของสมาชิกรัฐสภาแน่นอน จึงเป็นงานหนักที่สมาชิกรัฐสภา จะต้องชี้แจงและเร่งกู้ภาพลักษณ์ เพื่อความวัฒนาถาวรของระบบรัฐสภาต่อไป

เมื่อถามว่า หากการประชุมล่มโดยมีเจตนา และไม่มีเหตุผลในการเข้าประชุมตามปกติจะต้องมีบทลงโทษอะไรหรือไม่ นายคำนูณ กล่าวว่า ตนเชื่อว่าอาจมีการยื่นคำร้องทั้งประเด็นการผิดจริยธรรม ซึ่งไม่เคยมีคดีตัวอย่างมาก่อนว่าการไม่เข้าร่วมประชุมจะถึงขั้นผิดจริยธรรมร้ายแรงหรือไม่ อย่าลืมว่ารัฐธรรมนูญปี 60 มีมาตรฐานทางจริยธรรมที่องค์กรอิสระได้ตั้งขึ้นมาเพื่อใช้บังคับกับสมาชิกรัฐสภาด้วย เป็นมาตรการการพิจารณาที่ค่อนข้างสั้น มีสมาชิกสภาฯโดนไปแล้ว 1 ราย แต่เป็นคนละเหตุผลและเหตุการณ์ หากมีสมาชิกรัฐสภาไม่เข้าร่วมประชุมจริงในวันพรุ่งนี้ แต่ละคนคงมีเหตุผลในแต่ละกรณีที่แตกต่างกันไป หากยื่นใบลาจะไม่ถือว่าเป็นการขาดประชุม นอกจากนี้เชื่อว่าการประชุมร่วมรัฐสภา วันที่ 10 ส.ค.นี้ ยังมีเหตุแทรกซ้อนเข้ามาซึ่ง ส.ส.พยายามขอให้ไม่มีประชุมในวันที่ 10 ส.ค. อยู่แล้ว แต่ต้องเข้าใจธรรมชาติของ ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ที่มีภารกิจในพื้นที่ต้องเข้าร่วมงานวันกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน การมีเหตุผลในใบลาของแต่ละคนก็คงจะแตกต่างกันไป ดังนั้นจะมาพิจารณาว่าผิดจริยธรรมหรือไม่ ตนคิดว่าคงจะต้องพิจารณาเป็นกรณีไป

ทางด้านนายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ ส.ว. กล่าวยืนยันว่า ส.ว.ทุกคนพร้อมเข้าร่วมประชุม และอยู่ประชุมจนเลิกเกิน 200 คน จาก 250 คนแน่นอน ส่วนองค์ประชุมจะครบหรือไม่นั้น อยู่ที่ตัวแปรคือ ส.ส.500 คน ที่ต้องมาแค่ 1 ใน 3 จะครบองค์ประชุมแล้ว

“ส.ว.ไม่ล่มแน่ ส.ว.เต็มที่ 200 กว่าอยู่แล้ว เรามีความตระหนักตลอด ตัวเลขเราไม่เคยต่ำกว่าครึ่งหนึ่งเลย วุฒิสภาไม่เกี่ยวกับใคร เพราะวุฒิสภาไม่มีสิทธิไปลงสมัครรับเลือกตั้ง ต่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ เรายังอยู่ในวาระการปฏิบัติหน้าที่อยู่ ไม่ได้เกี่ยวกับใคร ดังนั้นจะไม่เล่นเกมกับใครเด็ดขาด เราเดินไปตามภาระหน้าที่ของเรา ยืนยันแทนสมาชิกได้เลย ผมค่อนข้างเชื่อมั่นในการผ่าน ร่าง พ.ร.ป.ฉบับนี้ ไม่ใช่สิ่งที่ยาก ไม่ต้องห่วงตรงนั้น กังวลเพียงว่า ขอให้ ส.ส. จะมาครบหรือเปล่า แต่ถ้าการประชุมวันที่ 10 ส.ค. เกิดอุบัติเหตุ ก็กลับไปสู่ร่างแรกที่เข้ามาใช้แทน” นายวัลลภ กล่าว