เมื่อวันที่ 7 ส.ค. นายนาวี ช้างภิรมย์ นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการพิเศษ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยายากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า ตามที่โซเชียลได้มีการแชร์เกี่ยวกับ “นกแก้วโม่ง” ฝูงสุดท้ายบริเวณวัดสวนใหญ่ ต.บางกรวย อ.บางกรวย จ.นนทบุรี ที่อาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูงที่ยอดยางอายุกว่า 200 ปี ริมคลองบางกรวย ในวัดสวนใหญ่นั้น นายสมปอง ทองสีเข้ม ผอ.สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า ได้มอบหมายให้นายธานี วงศ์นาค ผอ.ส่วนคุ้มครองสัตว์ป่า พร้อมคณะเจ้าหน้าที่ ชุดปฏิบัติการพิเศษ 1362 สำนักป้องกัน ปราบปราม และควบคุมไฟป่า และชุดเหยี่ยวดง เข้าตรวจสอบการอยู่อาศัยของนกแก้วโม่งดังกล่าว

นายนาวี กล่าวว่า เมื่อเจ้าหน้าที่เดินทางมาถึงวัดสวนใหญ่ ได้ร่วมหารือกับพระอธิการทองศูนย์ขันติพโล อายุ 50 ปี เจ้าอาวาสวัดสวนใหญ่ นายวินัย พุ่มอยู่ อายุ 66 ปี จิตอาสาชุมชนวัดสวนใหญ่ และนายชัยวัฒน์ มนตรีชัยวิวัฒน์ อายุ 45 ปี อาสาสมัครพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ถึงแนวทางในการอนุรักษ์และดูแลนกแก้วโม่ง

โดยนายวินัย เปิดเผยว่า ตนได้ร่วมทำเพจนกแก้วโม่ง ร่วมกับนายชัยวัฒน์ และนายพรหมราช นารถมุนี ซึ่งทำเกี่ยวกับการท่องเที่ยวชุมชนและเป็นแอดมินเพจ “ชวนเที่ยวบางกรวย” เพื่อใช้ในการอนุรักษ์นกแก้วโม่งของวัดสวนใหญ่และเป็นผู้โพสต์ข้อความดังกล่าวข้างต้นจริง จุดประสงค์เพื่อให้เจ้าหน้าที่และประชาชนเข้ามาร่วมกันอนุรักษ์นกแก้วโม่งของวัดสวนใหญ่ เดิมที่วัดสวนใหญ่จะมีนกแก้วโม่งมาอาศัยอยู่ประมาณ 100 กว่าตัว บนต้นยางนา จำนวน 2 ต้น แต่ปัจจุบันอาศัยอยู่ประจำประมาณ 20 ถึง 30 ตัว เนื่องจากพื้นที่บริเวณวัดเป็นแหล่งอาหารของนกแก้วโม่ง แต่ในปัจจุบันเปลี่ยนรูปแบบการใช้ประโยชน์ที่ดินเป็นหมู่บ้านจัดสรร และต้นไม้ใหญ่ที่เป็นแหล่งพักอาศัยของนกแก้วโม่งได้สูญหายไป ทำให้นกแก้วโม่งบางส่วนอพยพกระจายไปอยู่ที่อื่นทั่ว จ.นนทบุรี

“วัดสวนใหญ่ มีโพรงธรรมชาติที่ใช้ทำรังของนกแก้วโม่งบนต้นยาง ประมาณ 12 โพรง ซึ่งใช้ในการวางไข่ และตอนเย็น ๆ นกแก้วโม่งจะมารวมฝูงกันที่วัดสวนใหญ่เวลาประมาณ 16.00–18.00 น. ปกตินกแก้วโม่งที่วัดนี้จะออกลูกปีละประมาณ 1–2 ตัว ซึ่งนกแก้วโม่งจะมีนิสัยชอบออกหากินไกลจากที่พักอาศัย โดยแบ่งกระจายกันออกไปทั่ว จ.นนทบุรี และพอตกเย็นจึงกลับมายังที่พักอาศัยของตัวเอง ซึ่งมีหลายที่ใน จ.นนทบุรี อาหารของนกแก้วโม่งคือลูกไม้ ผลไม้ และเมล็ดข้าว ปัจจุบันนายพรหมราช นารถมุนี ได้พัฒนาให้วัดสวนใหญ่เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในการมาศึกษาการดำรงชีวิตของนกแก้วโม่ง ซึ่งเป็นนกหายาก ที่เกือบอยู่ในข่ายเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์” นายวินัย กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เจ้าหน้าที่ฯ ได้ร่วมหารือถึงแนวทางในการอนุรักษ์ดูแลนกแก้วโม่ง กับนายชัยวัฒน์ มนตรีชัยวิวัฒน์ และนายวินัย โดยให้อนุรักษ์ต้นยางทั้ง 2 ต้น ที่เป็นแหล่งวางไข่ของนกแก้วโม่ง ซึ่งในเบื้องต้นได้มีเจ้าหน้าที่รุกขกรของกรมป่าไม้ เข้ามาสำรวจเพื่อดูแลรักษาต้นยางนาที่เป็นแหล่งอาศัยสืบพันธุ์ของนกแก้วโม่งฝูงแล้ว แต่เนื่องจากติดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จึงยังไม่ได้ดำเนินการ และให้ทางผู้ดูแลจัดทำป้ายประชาสัมพันธ์ถึงการห้ามล่า ห้ามค้า และห้ามครอบครอง นกแก้วโม่ง เนื่องจากเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง บริเวณวัดสวนใหญ่ จำนวน 2 ป้าย เพื่อให้ประชาชนร่วมกันอนุรักษ์นกแก้วโม่ง

นายนาวี กล่าวว่า ในส่วนของเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติฯ จะช่วยประชาสัมพันธ์ในการอนุรักษ์นกแก้วโม่งบริเวณวัดสวนใหญ่ ให้ประชาชนได้ทราบ และถ้าหากพบเห็นการกระทำความผิดเกี่ยวกับสัตว์ป่า ตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ให้แจ้งทางสายด่วนพิทักษ์ป่า 1362 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช หรือทางเพจสายด่วน 1362 และทางเพจเหยี่ยวดง และจะร่วมประสานกับกลุ่มอนุรักษ์ในพื้นที่ชุมชนวัดสวนใหญ่ เพื่อช่วยกันดูแลและอนุรักษ์นกแก้วโม่งต่อไป.