ยังคงเป็นที่พูดถึงไปทั่วทั้งสังคมอย่างร้อนแรงต่อเนื่องอยู่ในขณะนี้ สำหรับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ครบกำหนดนั่งบนเก้าอี้นายกรัฐมนตรีครบ 8 ปี แต่ยังกลับเป็นที่ถกเถียงกันว่า 8 ปีที่ว่านั้น เมื่อไหร่กันแน่?

ซึ่งในเรื่องนี้ นักวิชาการทางกฎหมาย ได้ตีความแบ่งเป็น 3 กรอบเวลา กรอบแรก นับตั้งแต่วันที่ พล.อ.ประยุทธ์ ได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นนายกฯ ครั้งแรกวันที่ 24 ส.ค. 2557 ครบ 8 ปี วันที่ 23 ส.ค. 2565, กรอบเวลาที่สองครบกำหนดวันที่ 5 เม.ย. 2568 หรือ 8 ปี นับจากวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 เมื่อวัน 6 เม.ย. 2560 และกรอบที่สาม วันที่ 8 มิ.ย. 2570 ครบ 8 ปี นับตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ ได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นนายกฯ ครั้งที่ 2 หลังการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2562

แต่หากย้อนดูประวัติศาสตร์ของไทยที่ผ่านมา ชื่อของ “พล.อ.ประยุทธ์” คงไม่ใช่ชื่อแรก ที่ปรากฏว่ามีการนั่งตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเกิน 8 ปี.. ซึ่งอันที่จริงมีใครกันบ้าง?

โดยในอดีต มีเพียง 3 คนเท่านั้น ที่สามารถดำรงตำแหน่งนายกฯ รวมระยะเวลาแล้วได้เกิน 8 ปี

คนแรก จอมพล ป. พิบูลสงคราม จำนวน 8 สมัย ดังนี้
สมัยที่ 1: 16 ธันวาคม พ.ศ. 2481-7 มีนาคม พ.ศ. 2485
สมัยที่ 2: 7 มีนาคม พ.ศ. 2485-1 สิงหาคม พ.ศ. 2487
สมัยที่ 3: 8 เมษายน พ.ศ. 2491-25 มิถุนายน พ.ศ. 2492
สมัยที่ 4: 25 มิถุนายน พ.ศ. 2492-29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2494
สมัยที่ 5: 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2494-6 ธันวาคม พ.ศ. 2494
สมัยที่ 6: 6 ธันวาคม พ.ศ. 2494-23 มีนาคม พ.ศ. 2495
สมัยที่ 7: 24 มีนาคม พ.ศ. 2495-21 มีนาคม พ.ศ. 2500
สมัยที่ 8: 21 มีนาคม พ.ศ. 2500-16 กันยายน พ.ศ. 2500
รวมระยะเวลา 15 ปี 25 วัน

คนที่สอง จอมพลถนอม กิตติขจร จำนวน 5 สมัย ดังนี้
สมัยที่ 1: 1 มกราคม พ.ศ. 2501-20 ตุลาคม พ.ศ. 2501
สมัยที่ 2: 9 ธันวาคม พ.ศ. 2506-7 มีนาคม พ.ศ. 2512
สมัยที่ 3: 7 มีนาคม พ.ศ. 2512-17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514
สมัยที่ 4: 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514-17 ธันวาคม พ.ศ. 2515
สมัยที่ 5: 18 ธันวาคม พ.ศ. 2515-14 ตุลาคม พ.ศ. 2516
รวมระยะเวลา 9 ปี 205 วัน

คนที่สาม พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ จำนวน 3 สมัย ดังนี้
สมัยที่ 1: 3 มีนาคม พ.ศ. 2523-30 เมษายน พ.ศ. 2526
สมัยที่ 2: 30 เมษายน พ.ศ. 2526-5 สิงหาคม พ.ศ. 2529
สมัยที่ 3: 5 สิงหาคม พ.ศ. 2529-4 สิงหาคม พ.ศ. 2531
รวมระยะเวลา 8 ปี 154 วัน

ส่วนทางด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังถือว่าอยู่ในระดับเกือบ 8 ปี จากจำนวน 2 สมัย ดังนี้
สมัยที่ 1: 24 สิงหาคม พ.ศ. 2557-9 มิถุนายน พ.ศ. 2562
สมัยที่ 2: 9 มิถุนายน พ.ศ. 2562-ปัจจุบัน
รวมระยะเวลาอย่างเป็นทางการ 7 ปี 349 วัน (นับถึงวันที่ 9 ส.ค. 2565).