นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงแนวโน้มการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอีก 5-8% ว่า เห็นด้วยกับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เนื่องจากไม่ได้มีการปรับขึ้นมานานถึง 3 ปี และการจะเริ่มปรับขึ้นตั้งแต่ต้นปี 66 ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม ซึ่งปัจจุบันจะเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจบ้างแล้ว เบื้องต้นประเมินว่า หากมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอีก 5-8% จริง จะทำให้มีเม็ดเงินเพิ่มเข้าไปในระบบเศรษฐกิจอีกเดือนละ 1,500-2,400 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นปีละ 2-3 หมื่นล้านบาท จะช่วยผลักดันอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปี 66 ขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.1-0.2%  

ทั้งนี้การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ อาจมีผลกระทบต่อภาคธุรกิจที่ใช้จำนวนแรงงานสูง เช่น ภาคบริการ ร้านอาหาร โรงแรม อาจทำให้ธุรกิจต้องเลือกใช้กลไกในการลดผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงที่แตกต่างกันไป เช่น ปรับลดคนงาน การปรับราคาสินค้าหรือค่าบริการเพิ่มขึ้น หรือแม้แต่การยอมรับผลกำไรที่น้อยลง แต่หากเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น และการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำสามารถเริ่มได้ในต้นปีหน้า อาจทำให้ประชาชนยอมรับกับราคาสินค้าและบริการที่สูงขึ้นได้ ส่วนการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)  วันที่ 10 ส.ค. เชื่อว่า กนง.จะมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% เนื่องจากเงินเฟ้อล่าสุดเดือน ก.ค. ยังอยู่ในระดับสูงที่ 7.6%

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) กล่าวว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ที่แต่ละจังหวัดไม่เท่ากัน ถือเป็นอัตราที่ยอมรับได้ เนื่องจากได้สะท้อนจากภาวะเงินเฟ้อทั่วไปของไทยที่ปี 65 ที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์เฉลี่ยอยู่ระดับสูงที่ 5.5-6.5% โดยสิ่งที่เอกชนกังวลและกำลังติดตามใกล้ชิดคือ ร่างแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของกรรมาธิการสามัญวุฒิสภา ที่แก้ไขหลายมาตรา และหากกำหนดใช้จะกลายเป็นภาระรายจ่ายให้กับผู้ประกอบการเพิ่มมากขึ้น เช่น ปรับจากของเดิมที่กำหนดให้สัปดาห์หนึ่งการทำงานของลูกจ้างต้องไม่เกิน 48 ชั่วโมง (6 วัน) แก้ไขเป็นสัปดาห์หนึ่งไม่เกิน 40 ชั่วโมง (5 วัน) ไม่ว่าลักษณะงานหรือสภาพงานจะเป็นลักษณะใด หากเกินกว่านี้ ต้องจ่ายค่าตอบแทนชั่วโมงละไม่น้อยกว่า 1.5 เท่า  

นอกจากนี้ยังมีการจ้างงานในสถานประกอบการที่มีการจ้างงานรายวันและรายเดือนต้องจ้างเป็นรายเดือนทั้งหมดโดยไม่เลือกปฏิบัติ รวมทั้งแรงงานต่างด้าว ยกเว้นงานภาคเกษตร, งานก่อสร้าง, งานไม่มีความต่อเนื่อง หรืองานไม่ใช่ธุรกิจหลักของนายจ้าง โดยค่าสวัสดิการต้องเท่าเทียมกับลูกจ้างรายเดือน