หน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย เดินมาถึงช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญเกี่ยวกับเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ในฐานะประมุขฝ่ายบริหาร

จับสัญญาณหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดล่าสุด ที่ทำเนียบรัฐบาล พี่น้อง 3 ป. ประกอบด้วย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี, พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี, พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย เรียกนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย พูดคุยบนตึกไทยคู่ฟ้า

หัวข้อสำคัญในวงหารือคือเงื่อนปม รัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 158 วรรคสี่ ที่บัญญัติชัดเจน “นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกิน 8 ปีมิได้ ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตำแหน่ง”

โดยในวงประชุม 3 ป. เชื่อมั่นว่า นายกฯ จะไม่มีปัญหาเรื่องวาระ 8 ปี และคาดการณ์ ผลการตีความของศาลรัฐธรรมนูญ จะออกมาในแนวทาง พล.อ.ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งนายกฯ ครบวาระ 8 ปี ในวันที่ 5 เม.ย.2568 โดยนับจากวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 เมื่อวัน 6 เม.ย.2560

หรือยิ่งไปกว่านั้น หากตีความให้เริ่มนับวาระ 8 ปี ตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย. 2562 ซึ่งเป็นวันที่ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ พล.อ.ประยุทธ์ ก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี สมัยที่สอง

เท่ากับ พล..ประยุทธ์ สามารถดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี ได้ถึงวันที่ 8 มิ.. 2570 ผูกขาดตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตั้งแต่ปี 2557-2570 ลากยาว 13 ปี

ส่วนทางกับมุมมอง พรรคร่วมฝ่ายค้าน ภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทย ที่มองควรนับวาระตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งแรก วันที่ 24 ส.ค.2557 หากตีความตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560

หมายความว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะครบวาระดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปี วันที่ 24 ส.ค. 2565 จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ไม่สามารถดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้อีกตลอดไป

ขั้นตอนหลังจากนี้ พรรคร่วมฝ่ายค้าน เลือกวันดีเดย์ 17 ส.ค. ใช้ช่องรัฐธรรมนูญมาตรา 170 รวบรวมรายชื่อ ส.ส. พรรคร่วมฝ่ายค้านจํานวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภา ยื่นประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ 8 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 158 วรรคสี่

จากนั้นเป็นขั้นตอน ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาด โดยต้องตีความเจตนารมย์ณ์ รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ประเด็นที่น่าสนใจคือ ก่อนหน้านี้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ได้จัดทำ “ความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญ

ในส่วนมาตรา 158 วรรคสี่ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้อธิบายเจตนารมณ์ ที่กำหนดหลักการใหม่เกี่ยวกับการนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการนับระยะเวลา

กล่าวคือการนับระยะเวลา 8 ปีนั้น แม้บุคคลดังกล่าวจะมิได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีติดต่อกันก็ตาม แต่หากรวมระยะเวลาทั้งหมดที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของบุคคลดังกล่าวแล้วเกิน 8 ปี ต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพื่อมิให้เกิดการผูกขาดอำนาจในทางการเมืองยาวเกินไป อันจะเป็นต้นเหตุเกิดวิกฤติทางการเมืองได้

การเมืองไทยเดินมาถึงช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ ต้องตามติดชนิดไม่กะพริบตา!