เมื่อวันที่ 10 ส.ค. ที่รัฐสภา นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะโฆษกคณะ กรรมาธิการ (กมธ.) การป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ (ป.ป.ช.) สภาผู้แทนราษฎร แถลงว่ากรณีนายอำเภอเมืองเพชรบูรณ์ จ.เพชรบูรณ์ ไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ผวจ.เพชรบูรณ์ ให้เป็นผู้ยื่นคำขอรังวัดออกหนังสือสำหรับที่หลวง แปลง “ป่าโคกตาด” แปลงที่ 2 และแจ้งให้องค์การบริหารส่วนตำบลป่าเลา และเทศบาลตำบลนางั่ว ร่วมกันนำชี้แนวเขตที่ดินสาธารณประโยชน์เนื่องจากมีชาวบ้าน ต.นางั่ว และ ต.ป่าเลา อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์ จำนวน 26 ราย ได้ถูกศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกและขับไล่ กรณีที่นายอำเภอเมืองเพชรบูรณ์ นายกเทศมนตรีและนายกเทศบาลนางั่ว ได้ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับชาวบ้านดังกล่าว โดยอ้างว่าชาวบ้านได้บุกรุกที่ดินสาธารณประโยชน์โคกตาด หรือป่าโคกตาด ตามหลักฐาน นสล. เลขที่ พช.159 หมู่ 10 ต.ป่าเลา อ.เมืองเพชรบูรณ์ จ.เพชรบูรณ์ เนื้อที่ 1,977 ไร่ 2 งาน 8 ตารางวา ซึ่งชาวบ้านได้มีการต่อสู้มาโดยตลอดว่า นสล. เลขที่ พช.159 ดังกล่าวมีการออกโดยมิชอบ

เนื่องจากเป็นการออก นสล. ในพื้นที่เพียง 1,977 ไร่ 2 งาน 8 ตารางวา จากพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 10,000 ไร่ ตามทะเบียนที่ดินสาธารณประโยชน์ แปลงโคกตาด ที่กระทรวงมหาดไทยได้ประกาศไว้ในปี 2469 และที่สำคัญแนวเขตที่ดินตาม นสล. เลขที่ พช.159 โดยส่วนใหญ่ ไม่อยู่ในเขตที่ดินสาธารณประโยชน์แปลงโคกตาด ตามที่ประกาศไว้ ที่ได้ระบุว่าทิศเหนือจดหลักเขต ทิศใต้จดโคกหนองหอย ทิศตะวันออกจดโคกน้อย ทิศตะวันตกจดโคกคอบแคบ แต่เป็นการออก นสล. เลขที่ พช.159 ทับพื้นที่ของชาวบ้านจนชาวบ้านถูกดำเนินคดี เกิดความทุกข์ยาก แม้จะมีการร้องขอความเป็นธรรมไปยังหน่วยงานราชการหลายหน่วยงาน แต่ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือ จนชาวบ้านกลุ่มดังกล่าวได้มาร้องเรียนต่อ กมธ.

โฆษก กมธ.ป.ป.ช. กล่าวต่อไปว่า กมธ.ฯ ได้เคยเชิญ รมช.มหาดไทย ปลัดกระทรวงมหาดไทย อธิบดีกรมที่ดิน ผวจ.เพชรบูรณ์ และนายอำเภอเมืองเพชรบูรณ์ มารับทราบข้อพิพาทและพิจารณาพยานหลักฐานของประชาชน พร้อมทั้งแถลงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐต่อ กมธ.ป.ป.ช. หลายครั้ง และได้ตอบรับกับ กมธ. ว่าจะไปทำการรังวัดที่ดินเพื่อพิสูจน์ความจริงให้กระจ่าง โดยจะวัดแนวเขตที่ดินสาธารณประโยชน์แปลงโคกตาดอีกครั้ง โดยยึดตามหลักเขตสี่ทิศ (ทิศเหนือจดหลักเขต ทิศใต้จดโคกหนองหอย ทิศตะวันออกจดโคกน้อยทิศตะวันตกจดโคกคอบแคบ) ของพื้นที่ประมาณ 10,000 ไร่ ตามทะเบียนสาธารณประโยชน์ที่ประกาศไว้ในปี 2469 ตั้งแต่ครั้งแรก

แต่ข้อเท็จจริงกลับปรากฏว่า เทศบาลตำบลนางั่ว เป็นผู้ไปยื่นขอรังวัดเพื่อขอออก นสล. แปลงที่ 2 ในเนื้อที่ 8,022 ไร่ 1 งาน 92 ตารางวา ซึ่งการกระทำในลักษณะดังกล่าวมีประเด็นที่มีพิรุธ 2 ประเด็น คือ 1.ที่ดินสาธารณประโยชน์แปลงโคกตาด ตั้งอยู่ในเขตคาบเกี่ยว ต.นางั่ว และ ต.ป่าเลา ทั้งสองอำเภอ การให้เทศบาลนางั่ว เป็นผู้ไปร้องขอรังวัดแต่เพียงผู้เดียว ส่งผลให้ไม่สามารถนำชี้แนวเขตที่ดินทั้งหมดได้ เพราะมีส่วนคาบเกี่ยวเขตตำบลป่าเลาด้วย การกระทำในลักษณะนี้ของ จ.เพชรบูรณ์ เป็นการประวิงเวลาเพื่อไม่ให้เกิดการตรวจสอบพิสูจน์ความจริงหรือไม่ ในกรณีนี้ภายหลัง ผวจ.เพชรบูรณ์ ได้มีหนังสือสั่งการให้นายอำเภอเมืองเพชรบูรณ์ เป็นผู้ไปขอรังวัดเอง เนื่องจากทั้งสองตำบลอยู่ในเขตอำเภอเมืองตั้งแต่วันที่ 27ก.ค.65 แต่จนถึงบัดนี้ ข้อมูลจากชาวบ้านแจ้งว่านายอำเภอเมืองเพชรบูรณ์ยังไม่ได้ร้องขอรังวัดที่ดินแต่อย่างไร

2.การขอรังวัดในลักษณะเพื่อขอออก นสล. แปลงที่ 2 ในเนื้อที่ 8,022 ไร่ 1 งาน 92 ตารางวา มาจากแปลงที่ 1 ตาม นสล. เลขที่ พช.159 นั้น ส่อให้เห็นถึงเจตนาที่จะปกป้อง ไม่ให้มีการตรวจความถูกต้องของแนวเขตที่ดินสาธารณประโยชน์ผืนนี้หรือไม่ เนื่องจากการขอขยายการรังวัด 8,000 กว่าไร่เพิ่มเติมเหมือนกับแสดงเป็นนัยยะว่า ทางฝ่ายปกครองผู้รับผิดชอบที่ดิน จะยึดถือ หนังสือ นสล. เลขที่ พช.159 เดิมเป็นหลัก โดยไม่สนใจว่า ประเด็นที่จะต้องพิสูจน์ทราบและเป็นข้อพิพาทคือ การที่ หนังสือ นสล. เลขที่ พช.159 ฉบับนี้มีขอบเขต ออกนอกเขตที่ดินสาธารณประโยชน์ แปลงโคกตาด ที่ได้ประกาศไว้ตั้งแต่ปี 2469 หรือไม่ การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ จ.เพชรบูรณ์ ในลักษณะเช่นนี้ ไม่ได้เป็นไปตามคำตอบของ รมช.มหาดไทย และปลัดกระทรวงมหาดไทย ที่ได้เคยให้ไว้ต่อคณะ กมธ. แต่เป็นการปฏิบัติหน้าที่ที่ค่อนข้างส่อให้เห็นถึงข้อพิรุธว่าอาจจะไม่ยินยอมให้เกิดมีการตรวจสอบเขตที่ดินสาธารณประโยชน์แปลงโคกตาดอย่างเปิดเผย ตรงไปตรงมา”

นายธีรัจชัย ยังกล่าวด้วยว่า กมธ.ได้เชิญเจ้าหน้าที่กรมที่ดินฝ่ายรังวัดเพื่อออกหนังสือสำหรับที่หลวง ที่ได้รับมอบหมายจากอธิบดีกรมที่ดิน เพื่อตรวจติดตามและให้คำแนะนำแนวทางการปฏิบัติงานในการรังวัด ที่สาธารณประโยชน์แปลงนี้ มาให้ข้อมูลต่อคณะ กมธ. พบว่าจากการตรวจสอบหลักฐานการรังวัดเดิมและรายงานการรังวัดเดิม เชื่อได้ว่ามิได้ทำการรังวัดตามระเบียบของกรมที่ดิน ซึ่งพบข้อพิรุธอันควรสงสัยในต้นร่างไม่แสดงหมุดหลักฐานโครงงานแผนที่ รายการโยงยึดและแบบรายการคำนวณมีค่าพิกัดฉากแต่ละหลักเขตที่ดินทุกหลัก มีค่าพิกัด ระบบพิกัดฉาก UTM แต่ไม่มีจุดทศนิยมที่คำนวณเนื้อที่ได้ อย่างไรก็ตาม กมธ. จะเชิญ รมว.มหาดไทย และปลัดกระทรวงมหาดไทย มาให้ข้อมูลอีกครั้ง

ขณะที่กรณีสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด โดยผู้รับมอบอำนาจจากสมาชิกสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ได้เคยมายื่นหนังสือร้องเรียนต่อ กมธ. เนื่องจากได้นำเงินของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นออกไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัวจำนวนเงินหลายหมื่นล้านบาท ส่งผลทำให้สหกรณ์ฯ ขาดสภาพคล่อง ไม่มีเงินคืนให้แก่สมาชิกของสหกรณ์ฯ ทางสมาชิกสหกรณ์ฯ จึงได้ไปร้องเรียนต่อสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) ซึ่ง ป.ป.ง.ได้มีคำสั่งให้อายัดทรัพย์สินซึ่งเป็นที่ดิน 36 แปลง เพื่อนำออกประมูลขายทอดตลาดตามกฎหมายและระเบียบ และนำเงินมาชำระคืนแก่สหกรณ์ฯ ต่อไป อันเป็นการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายในความผิดมูลฐาน และเนื่องจากเป็นคดีที่เข้าข่ายคดีอาญา ข้อหาฉ้อโกงประชาชน และข้อหาอื่นที่เกี่ยวเนื่องกัน กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) จึงมีมติรับคดีอาญานี้ไว้ดำเนินการสอบสวน และมีคำสั่งอายัดที่ดินดังกล่าว อย่างไรก็ตาม กมธ. ได้ตรวจสอบเรื่องดังกล่าวแล้วพบข้อสงสัยในจำนวนเงินที่ขายที่ดิน 447 ล้านบาท แต่ได้นำเงินมาคืนสหกรณ์ฯ เพียง 100 ล้านบาทเท่านั้น