ล่าสุดเมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2565 “หมอธีระวัฒน์” หรือ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา เป็นผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก @ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha ให้ความรู้เกี่ยวกับอาการโรคฝีดาษลิง

โดยคุณหมอได้ระบุข้อความว่าทำโรคฝีดาษลิงให้เป็นเรื่องง่าย” 

  1. ยอมรับว่าเป็นโรคติดต่อที่เกี่ยวข้องกับเพศสัมพันธ์
  2. ไม่ได้จำกัดอยู่ที่กลุ่มรักเพศเดียวกันหรือรักสองเพศ เป็นได้ระหว่างชายกับหญิงธรรมดาก็ได้
  3. คนที่มีความเสี่ยงหรือที่อาจเป็น จะอึดอัดที่บอกความจริงเกี่ยวกับพฤติกรรม (เพราะอาจไปเถลไถลที่อื่น)
  4. ความผิดปกติที่เกิดขึ้นอาจมีเพียงแผลตุ่ม แต่ยังสบายดี หรือกลับกันคือรู้สึกไม่สบายแต่ยังไม่มีแผลตุ่ม
  5. ทันทีที่เกิดความผิดปกติดังข้อสี่ เชื้อสามารถแพร่ได้ทางละอองฝอยน้ำลาย สิ่งคัดหลั่งจากแผลตุ่ม และอาจเป็นไปได้ จากน้ำอสุจิ ช่องคลอดและทวารหนัก
  6. การสืบสวน สอบสวน ที่หมอต้องแจ้งทางการก่อน สอบชื่อที่อยู่ครอบครัว รสนิยมทางเพศ ถ่ายรูปตุ่มส่งให้ทางการไปดูก่อนว่า เหมือนหรือไม่ (ซึ่งไม่มีทางบอกได้) ก่อนที่จะลงมือทำการสืบสวนและตรวจ จะหลุดโอกาสที่จะรู้เร็ว ป้องกันเร็ว รักษาเร็ว ระงับการระบาด
  7. ช่องทางที่ให้คำปรึกษาในประเทศไทยมีอยู่แพร่หลาย คลินิกเอชไอวี คลินิกเพศสัมพันธ์คลินิกทั่วไปทางเวชกรรม สงสัยส่งตรวจ
  8. ง่ายนิดเดียว แยงจมูกและลำคอแบบโควิด ใส่หลอด UTM VTM แม้กระทั่งเก็บน้ำลายสด รู้ภายใน 24 ชั่วโมง
  9. มีการตรวจพีซีอาร์ ทั่วไปแล้ว รวมทั้งศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งทำการตรวจได้มาเกือบ 10 ปีแล้ว เพราะอยู่ในตระกูลฝีดาษซึ่งเป็นโรคที่ต้องจับตา
  10. ถ้าได้ผลบวก บอกคนติดทันที คนที่ติดไปแล้วต้องบอกคนที่สัมผัสมีสัมพันธ์ด้วย และคนที่อยู่อาศัยใกล้ชิดเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มที่นอน พร้อมกันนั้นบอกประสานทางการให้การช่วยเหลือ 

นอกจากนี้คุณหมอธีระวัฒน์ยังอธิบายเพิ่มเติมว่า “ฝีดาษลิงไม่ใช่เรื่องยากเกินไป ไม่ใช่คิดแต่วัคซีนหรือยารักษา ต้องทำให้เป็นเรื่องปกติเข้าถึงได้ รักษาความลับ เร่งกระบวนการให้เร็วสุด”

ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพ : @ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha