เมื่อวันที่ 10 ส.ค. เวลา 12.00 น. ที่ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรม ดิ แอทธินี โฮเทล แบงค็อก ทาง 22 มูลนิธิ และองค์กรการกุศลหลักของประเทศ ประกอบด้วย มูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ รวมไปถึง ไตรโครงการ ที่ประกอบด้วย 3 มูลนิธิคือ มูลนิธิพัชรสุธาคชานุรักษ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ มูลนิธิภูบดินทร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และ มูลนิธิราชทัณฑ์ปันสุข ทำความดี เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย มูลนิธิทุนการศึกษาพระราชทานสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร (ม.ท.ศ.) มูลนิธิชัยพัฒนา มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ มูลนิธิสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า มูลนิธิจุฬาภรณ์ มูลนิธิ TO BE NUMBER ONE ศิริราชมูลนิธิ มูลนิธิรามาธิบดี มูลนิธิสถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์ มูลนิธิคณะแพทยศาสตร์จุฬาฯ มูลนิธิโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า มูลนิธิโรงพยาบาลสวนดอก คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มูลนิธิโรงพยาบาลตำรวจ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ มูลนิธิรัฐบุรุษพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) สถาบันโรคไตแห่งประเทศสิงคโปร์ มูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ และสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดแถลงข่าวเปิดตัว “โครงการประมูลกล้องถ่ายภาพ ชุดพิเศษ Leica รุ่น M 10-P Limited Edition เฉลิมพระเกียรติเนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ.2562” โดยการประมูลดังกล่าวจัดขึ้นในวันที่ 30 ก.ย. ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เพื่อนำรายได้จากการประมูลมอบให้แต่ละองค์กรนำไปสร้างสรรค์ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของแต่ละองค์กรต่อไป

นายฐาปน สิริวัฒนภักดี อดีตนายกสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในฐานะประธานกรรมการอำนวยการจัดงาน กล่าวว่า เนื่องในโอกาสมหามงคล พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 พวกเราทั้ง 22 องค์กรจึงขอร่วมเทิดพระเกียรติ และร่วมเฉลิมฉลองในโอกาสมหามงคลนี้ ด้วยการจัดสร้างกล้องถ่ายภาพ Leica รุ่น M 10-P Limited Edition เฉลิมพระเกียรติ เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ.2562 ขึ้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งความจงรักภักดีและด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ที่ตัดสินใจเลือกการจัดทำกล้องถ่ายภาพ Leica รุ่น M 10-P Limited Edition เนื่องกล้องถ่ายภาพ Leica เป็นกล้องถ่ายภาพจากเยอรมนีที่มีประวัติความเป็นมายาวนานกว่า 100 ปี และได้รับการการยกย่องว่าเป็นกล้องถ่ายภาพที่สร้างด้วยความประณีต ละเอียดอ่อนประหนึ่งงานศิลปะ มีรูปแบบที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นไม่ซ้ำแบบใคร และเป็นที่นิยมของนานาประเทศที่จะจัดสร้างกล้องถ่ายภาพ Leica รุ่นพิเศษเพื่อเป็นที่ระลึกในโอกาสที่สำคัญที่สุด อาทิ วาระครบรอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระมหากษัตริย์ ประเทศต่างๆ หรือโอกาสพิเศษต่าง ๆ ซึ่งมักจะจัดทำในจำนวนที่จำกัดเพื่อให้เป็นของที่ทรงคุณค่า และจารึกไว้ให้เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ที่สำคัญของโลกที่นักสะสมต่างแสวงหามาครอบครอง

นายฐาปน กล่าวต่อว่า ในการจัดทำกล้องไลก้า รุ่นพิเศษได้จัดทำกล้องถ่ายภาพเป็นสองรูปแบบ คือ ชุดสีเหลืองประกอบด้วย กล้องดิจิทัล Leica M 10-P ชุบทองคำ หุ้มด้วยหนังจระเข้สีเหลือง พร้อมเลนส์ APO Summicron- M 1:2/50 ASPH และเลนส์ Summilux M1:1.4/35 ASPH ราคาชุดสีเหลืองชุดละ 1,500,000 บาท จำนวน 10และ ชุดสีเขียว ประกอบด้วย กล้องดิจิทัล Leica M10-P ชุบทองคำ หุ้มด้วยหนังจระเข้สีเขียว พร้อมเลนส์ Summilux M1:1.4/35 ASPH จำนวน 20 ชุดราคาชุดละ 1,000,000 บาท เพื่อนำกล้องส่วนหนึ่ง ขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี และพระบรมวงศานุวงศ์ตามลำดับ จำนวน 6 ชุด ในจำนวนนี้เป็น กล้อง Leica ชุดสีเหลือง 5 ชุด และกล้อง Leica ชุดสีเขียว 1 ชุด มอบให้พิพิธภัณฑ์บริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) จัดเก็บ กล้อง Leica ชุดสีเหลือง 1 ชุด มอบให้พิพิธภัณฑ์ Leica ประเทศเยอรมนี จัดเก็บกล้อง Leica ชุดสีเขียว 1 ชุด และส่วนเหลืออีก 22 ชุด จัดการประมูลในวันที่ 30 ก.ย. นี้ เพื่อนำรายได้จากการประมูลมอบให้แต่ละองค์กรนำไปสร้างสรรค์ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของแต่ละองค์กรต่อไป ในฐานะตัวแทนองค์กรของคนไทย และประชาชนคนไทยคนหนึ่ง มีความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนเล็กๆ ส่วนหนึ่งที่ได้มีโอกาสเข้าร่วมกับทั้ง 22 องค์กรการกุศล เพื่อร่วมพลังกันสร้างสรรค์ประโยชน์เพื่อความสุขของสังคมโดยรวมและประเทศชาติที่ยั่งยืนสืบไป

นายนิติกร กรัยวิเชียร เลขาธิการมูลนิธิส่งเสริมการถ่ายภาพ และอดีตนายกสมาคมถ่ายภาพนายกสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า การจัดทำกล้องรุ่นพิเศษนี้ ได้มีการดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2562 แต่เนื่องด้วยสถานการณ์โควิด-19 จึงทำให้งานโครงการนี้ล่าช้าอย่างมาก เพราะทั้งเรื่องของการผลิตต่าง ๆ และเรื่องของมาตรการของรัฐบาลของประเทศเยอรมนีที่ปิดโรงงานผลิต ทำให้ไม่สามารถผลิตได้ และพอสถานการณ์เริ่มคลี่คลายก็ยังประสบปัญหาเรื่องวัสดุชิ้นส่วนต่าง ๆ ที่ผลิตมาจากหลายมุมโลกก็ยังส่งออกไม่ได้ ยิ่งทำให้เกิดความล่าช้า เพราะการผลิตด้วยการชุบทองคำแท้เป็นขั้นตอนที่ละเอียดอ่อนและยากมาก ซึ่งกว่าจะผลิตสำเร็จเวลาก็ลุล่วงมาจนถึงปี 2565 และได้รับกล้องมา และดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ กระทั่งมาถึงปัจจุบัน โดยผู้สนใจร่วมการประมูลสามารถติดต่อและแสดงความเจตจำนงเข้าร่วมได้ที่มูลนิธิทั้ง 22 มูลนิธิ หรือขอแคทตาล็อค จาก คริสตี้ส์ (Christies) และกรอกแบบฟอร์ม Written Bid Form ไว้ก่อน พร้อมแจ้งเจตุจำนงค์เข้าร่วมงานประมูลในวันที่ 30 ก.ย. ทางทีมงานที่เกี่ยวข้องจะติดต่อ เพื่อเชิญเข้าร่วมการประมูลต่อไป ซึ่งการประมูลนี้ จะเป็นการประมูลในประเทศไทย จำนวน 21 ชุด เป็นกล้อง Leica ชุดสีเหลือง 4 ชุด และกล้อง Leica ชุดสีเขียว 17 ชุด ส่วนกล้อง Leica ชุดสีเขียว 1 ชุดที่เหลือ จะมอบให้สถาบันโรคไตแห่งประเทศสิงคโปร์ นำไปประมูลที่ประเทศสิงคโปร์ ในลำดับต่อไป