เมื่อวันที่ 10 ส.ค. นายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ …) พ.ศ. …. รัฐสภา ให้สัมภาษณ์ถึงการประชุมร่วมรัฐสภาล่ม ว่าการตรวจเช็กองค์ประชุมต้องดู 2 จังหวะ จังหวะแรกคือการแสดงตนด้วยการขานชื่อ ได้ทั้งหมด 403 เสียง ถือว่าเกินกึ่งหนึ่งคือ 364 เสียง และจังหวะสองคือขั้นการลงมติ ซึ่งจะต้องดู 2 เงื่อนไขประกอบกัน ว่าผู้ลงมติมีเท่าใด ที่จะต้องมีเสียงเกินกึ่งด้วย และลงมติแบบใด จากการลงมติเมื่อสักครู่ ปรากฏว่ามีผู้ลงมติแค่ 342 เสียง ห่างจากกึ่งหนึ่งเกือบ 20 เสียง ประธานที่ประชุมได้ประเมินสถานการณ์แล้ว และได้เรียกลงมติหลายครั้ง แต่ตัวเลขไม่ได้ขยับขึ้นเลย เมื่อไม่มีทางเลือก องค์ประชุมไม่ครบในขั้นลงมติ จึงจำเป็นต้องปิดประชุม  

เมื่อถามว่า ผลที่เกิดขึ้นต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า ผลที่เกิดขึ้นต่อจากนี้อย่างเป็นทางการ ในเมื่อยังไม่มีการนัดหมายประชุมรัฐสภาอีก โอกาสการพิจารณากฎหมายฉบับนี้ไม่ทันกรอบ 180 วัน ซึ่งจะครบในวันที่ 15 ส.ค.65 ถือว่าค่อนข้างสูง อย่างไรก็ตามยังไม่แน่ใจว่าประธานรัฐสภาจะมีดำริให้นัดประชุม หรือวิปจะหารือเพื่อนัดประชุมเพิ่มหรือไม่ ทั้งนี้เมื่อดูแนวโน้มและสถานการณ์ที่เกิดขึ้นการนัดประชุมรัฐสภาแทบจะเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นจึงจะเป็นไปตามเงื่อนไขรัฐธรรมนูญที่จะกลับไปใช้ร่างของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ใช้สูตรการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อด้วยการหาร 100

ขณะที่ นายสมชาย แสวงการ ส.ว. ในฐานะคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. (ฉบับที่..) พ.ศ. …. รัฐสภา ยอมรับว่าหากการประชุมรัฐสภาวันที่ 10 ส.ค.นี้ ไม่สามารถพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่..) พ.ศ. …. ได้แล้วเสร็จในวาระสาม จะทำให้ไม่มีเวลาที่รัฐสภาจะนัดประชุมได้อีก และกรอบเวลา 180 วันนั้น มีข้อถกเถียงว่าจะนับวันสุดท้ายวันที่ 15 ส.ค. หรือไม่ โดยส่วนตัวมองว่าจะครบกรอบเวลาดังกล่าวที่เวลาเที่ยงคืนของวันที่ 14 ส.ค.65 ดังนั้นหากมีข้อเรียกร้องให้นัดประชุมวันที่ 15 ส.ค. จะถือว่าเกินเวลา อีกทั้งในวันดังกล่าว วุฒิสภามีการประชุม