เมื่อวันที่ 10 ส.ค. ที่โรงพยาบาลราชวิถี นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์, พญ.นฤมล สวรรค์ปัญญาเลิศ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิกรมการแพทย์ แถลงข่าวแนวทางการดูรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ในระยะที่มีการปรับให้เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง สรุปใจความคือแนวทางดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ในช่วงหลังจากการระบาดใหญ่ ปัจจุบันคือ 7+3 รวม 10 วัน โดยแบ่งผู้ป่วยเป็น 4 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มไม่มีอาการ แยกกักที่บ้านได้ 2.กลุ่มอาการน้อย เช่น ไอเจ็บคอ อัตราหายใจ 20 ครั้งต่อนาที และไม่มีปัจจัยเสี่ยงเป็นกลุ่ม 608 สามารถแยกกักที่บ้านได้ 3.กลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยง 608 และมีอาการเล็กน้อย ปอดอักเสบแต่ไม่ต้องให้ออกซิเจน สามารถแยกกักตัวที่บ้าน หรือรักษาใน รพ. และ 4.กลุ่มปอดอักเสบ มีไข้สูง ไอ ออกซิเจนปลายนิ้วมือต่ำกว่า 94% ต้องรักษาใน รพ.

สำหรับแนวทางการจ่ายยาผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีการศึกษามาจากประเทศต่างๆ พบว่า 1.กลุ่มไม่มีอาการ ไม่ต้องกินยาหายได้ ดังนั้นกลุ่มนี้จะไม่ให้ยาต้านไวรัส แต่หากมีไข้ แล้วต้องกินยาจะพิจารณาให้เป็นยาฟ้าทะลายโจร 2.กลุ่มที่อาการน้อย หากเจ็บคอมาก ไข้สูงมากกว่า 37.5 องศา ยังไม่มีไอและปอดอักเสบ พิจารณาให้ยาฟาวิพิราเวียร์ ซึ่งหากให้ใน 4 วันแรก ทำให้ผู้ป่วยอาการดีขึ้น 3.กลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยง 608 ต้องให้ยาต้านไวรัส ที่ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์ ตามอาการของผู้ป่วยและปริมาณยาที่มีใน รพ. เช่น โมลนูพิราเวียร์ แพกซ์โลวิด ฟาวิพิราเวียร์ หรือเรมเดสซิเวียร์ ซึ่งจะต้องให้ตามแนวทางที่กำหนด และ 4.กลุ่มปอดอักเสบ จะให้ยาเรมเดสซิเวียร์ที่มีผลศึกษาว่าให้ผลดีมาก โดยเป็นยาฉีดที่ต้องให้ใน รพ.เท่านั้น

นพ.กำธร มาลาธรรม นายกสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สิ่งที่เจอคือการกินยาแพกซ์โลวิด ร่วมกับยาแก้ไมเกรน อาจเกิดภาวะนิ้วตายกินร่วมยาละลายลิ่มเลือดจะเสริมฤทธิ์กันทำให้เลือดออก ถ้าเลือดไปออกในสมองมีโอกาสเสียชีวิตได้ ดังนั้นต้องให้เป็นแพทย์จ่ายยาทั้งนี้ยังพบว่า ยาโมลนูพิราเวียร์มีกลไกการทำให้เกิดเชื้อกลายพันธุ์ของไวรัส จึงไม่อยากให้ใช้พร่ำเพรื่อ นอกจากนี้ยังเกิดภาวะรีบาวด์หรือกลับมาป่วยโควิดซ้ำได้ ซึ่งที่ รพ.รามาธิบดี เริ่มพบผู้ป่วยภาวะรีบาวด์ ในกลุ่มคนที่ได้รับยาโมลนูพิราเวียร์ และแพกซ์โลวิด ประมาณ 1-2% ของผู้ป่วย แต่ภาวะรีบาวด์ จะหายภายใน 2 สัปดาห์ ซึ่งแม้หายเองได้ แต่ไม่อยากให้เกิดขึ้นกับใคร เพราะส่งผลกระทบกับใช้ชีวิต และการทำงาน ดังนั้นเกณฑ์การให้ยาในผู้ป่วยมีความสำคัญ ความชัดเจนเป็นลำดับขั้นตอน ต้องเป็นดุลพินิจของแพทย์เท่านั้น.