เมื่อวันที่ 10 ส.ค. ที่ห้องประชุมวิสุทธิกษัตริย์ ชั้น 3 อาคารศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ถ.วิสุทธิกษัตริย์ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย (มท.) เป็นประธานการประชุมคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อขับเคลื่อนโครงการอำเภอนำร่อง “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการและสร้างนักขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นำการเปลี่ยนแปลง กระทรวงมท. (คณะทำงานเฉพาะกิจด้านติดตาม หนุนเสริมและประเมินผล) โดยมีรศ.วรวรรณ โรจนไพบูลย์ และผศ.พิเชฐโสวิทยสกุล ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมท. หัวหน้าส่วนราชการจากสำนักงานปลัดกระทรวงมท.  รวมทั้งผู้แทนจากหน่วยงานด้านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ จากกรม และหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงมท. ดร.ศิริมาเมธ์วดี ศิรธนิตรา นายกเทศมนตรีเมืองพิบูลมังสาหาร และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าประชุม

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า การทำงานของคณะทำงานติดตามหนุนเสริมและประเมินผลนี้ เปรียบเสมือนการเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่กระทรวงมท.ในการทำงานและบูรณาการข้อมูลร่วมกันระหว่างหน่วยงานภายในของกระทรวงมหาดไทย และภาคีเครือข่ายเพื่อให้เกิดความคึกคักนำไปสู่การพัฒนาการเปลี่ยนแปลง ความหมายของคำว่า คึกคักในที่นี้ คือ ไม่ได้มีความประสงค์จะเป็นจุดสนใจ แต่ต้องการจะให้เกิดการเรียนรู้ของผู้ที่มีหน้าที่ในพื้นที่ทำงานตั้งแต่ระดับ ผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการในจังหวัดทุกส่วนราชการ นายอำเภอ และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานทุกคน ทำให้เกิดกระแสยอมรับจากทุกภาคส่วนทั้งรัฐบาลที่เป็นผู้อนุมัติงบประมาณ เพื่อจะได้ติดตามผลการดำเนินงานที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ได้สะดวก หรือ ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น หรือภาคเอกชนในพื้นที่ ให้เกิดการยอมรับและรับรู้รับทราบถึงความตั้งใจเพื่อจะได้สนับสนุนภารกิจและกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม นอกจากนี้ ผลดี คือ เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลต่อส่วนรวม เป็นบทเรียนที่สำคัญและเป็นต้นแบบการทำงานให้กับเจ้าหน้าที่ราชการส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค

นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่อว่า ยกตัวอย่างเรื่องการสวมใส่ผ้าไทย มีนโยบายรณรงค์ส่งเสริมสวมใส่ผ้าไทยจากผู้บริหารองค์กรอาจจะมีบางคนรู้สึกไม่ชอบ แต่เมื่อใส่ไปแล้วคิดถึงหลักเหตุผล ท่านผู้สวมใส่จะมีความตระหนักถึงคุณค่าของการสวมใส่ผ้าไทย ว่า ผ้าไทยนี้เกิดจากเกษตรกร ที่ใช้เวลาว่างหลังจากการทำการเกษตร มาทอผ้า เกิดเป็นเสื้อผ้านำไปใช้สวมใส่กันในพื้นที่ หากมีปริมาณมากก็นำมาขาย สร้างเป็นอาชีพหลักและอาชีพเสริม ซึ่งพวกเราในฐานะผู้บริโภคมีหน้าที่สนับสนุนสินค้าที่เกิดขึ้นจากชุมชน ใช้ Demand นำ Supply เพื่อให้ผู้ผลิตเขามีรายได้ ไปพัฒนาคุณภาพชีวิตของเขา มีบ้านที่ดี ลูกหลานได้มีโอกาสเรียนหนังสือ มีโอกาสเข้าถึงการรักษาโรคในสถานพยาบาลที่ดี เป็นต้น นอกจากนี้ ยังแสดงให้เห็นอัตลักษณ์ความเป็นไทยได้นอกเหนือจากจากรูปลักษณ์ทางกายภาพ เช่น หน้าตา ภาษา ว่าเป็นคนไทยที่อยู่ภูมิภาคเอเชียปัจจุบัน กระทรวงมหาดไทยมีการรณรงค์ให้สวมใส่ผ้าไทย จนเป็นอัตลักษณ์และเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปแล้วว่า ถ้าใครใส่ผ้าไทยมีความน่าจะเป็นสูงว่ามาจากกระทรวงมหาดไทย สิ่งเหล่านี้อยากชวนให้ทุกท่านมองกันอย่างลึกซึ้ง เพราะเป็นหนึ่งในเรื่องความมั่นคง ที่มาจากปัจจัย 4 ได้แก่ อาหาร ยา เครื่องนุ่งห่ม และที่อยู่อาศัย ซึ่งจะเสริมสร้างความมั่นคงภายในชาติด้วยตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงพระราชทานไว้ให้ว่าเราต้องพึ่งพาตนเอง และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท่านทรงมีพระราชปณิธานที่แนวแน่ในการสืบสาน รักษาและต่อยอดแนวพระราชดำริที่ยังประโยชน์แก่พี่น้องประชาชนคนไทยทุกคน การนำไปสู่ความมั่นคงได้นั้นต้องพึ่งพาตนเองให้ได้ก่อน อย่าเข้าใจว่าเงินซื้อทุกอย่างได้ ถ้าวันหนึ่งเกิดวิกฤตที่เป็นภัยร้ายแรงต่อมนุษยชาติ แล้วประเทศมหาอำนาจเลือกที่จะไม่ขายสินค้าให้กับประเทศอื่นๆ เมื่อนั้นเงินจะกลายเป็นสิ่งที่ไม่มีคุณค่าและประเทศของเราต้องหันมาพึ่งพาตนเอง เหมือนเช่นวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรน่า 2019 ที่เพิ่งเกิดขึ้น โชคดีที่ประเทศของเรามีความมั่นคงทางอาหารและมีความอุดมสมบูรณ์จึงไม่ค่อยประสบปัญหาการนำเข้าอาหารจากประเทศเพื่อนบ้าน

ผศ.พิเชฐ กล่าวว่า การขับเคลื่อนงานของคณะทำงานเฉพาะกิจด้านติดตาม หนุนเสริมและประเมินผลเป็นส่วนหนึ่งของ 5 กลไก ซึ่งประกอบด้วย 5 ด้าน ได้แก่ 1.ด้านการประสานงานภาคีเครือข่าย 2.ด้านบูรณาการแผนงานและยุทธศาสตร์ 3.ด้านติดตามหนุนเสริมและประเมินผล4.ด้านการจัดการความรู้ และ 5.ด้านการสื่อสารสังคม ซึ่งขณะนี้การออกแบบ Model ต้นแบบการจัดเก็บข้อมูลได้ดำเนินการในระยะที่ 1 เสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยการบูรณาการความร่วมมือจาก ดร.ศิริมาเมธ์วดี ศิรธนิตรา นายกเทศมนตรีเมืองพิบูลมังสาหาร ผู้บริหารท้องถิ่น ที่มีตัวอย่างความสำเร็จจากการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการบริหารและแก้ปัญหาพื้นที่ได้อย่างเป็นรูปธรรม ระบบนี้จะเป็นเครื่องมือสำคัญให้ท่านผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอ ใช้เก็บรวบรวมและนำเข้าข้อมูล ติดตามการดำเนินงานในพื้นที่ ทั้งก่อนดำเนินงานและหลังดำเนินงาน อีกทั้งยังสามารถนำไปใช้ในการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานและเครือข่ายภาคีภาคส่วนต่างๆในแต่ละพื้นที่ รวมถึงการทำงานด้านอื่นๆ อาทิ การแก้ไขปัญหาความยากจน ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง น้ำเสีย ปัญหาเรื่องที่ดิน หรือปัญหาตามข้อร้องเรียนร้องทุกข์ต่างๆ ที่อยู่ในระบบของศูนย์ดำรงธรรม การมีระบบ Data Monitoring ช่วยให้การทำงานสามารถรายงานผลตามตัวชี้วัดในด้านต่างๆ สอดคล้องกับข้อมูลในระบบ Thai QM และTPMAP และตัวชี้วัดความยั่งยืน SDGs ขององค์การสหประชาชาติ นอกจากนี้ กระทรวงมท.สามารถใช้ระบบนี้ที่มีลักษณะเป็น Dash Board ในการนำเสนอทำให้ง่ายต่อความเข้าใจและติดตามรายงานผลการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติราชการและตอบเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ของกระทรวงมท. ในภาพรวม อีกทั้งยังช่วยในเรื่องของการตัดสินใจด้านการพิจารณางบประมาณ ของฝ่ายบริหาร ตามนโยบายการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในพื้นที่อีกด้วย

นายสุทธิพงษ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า การรวมกลุ่มต่างๆ ในสังคม ทั้งในเรื่องจิตอาสา ที่มีการทำกิจกรรมทำความดีต่างๆ ล้วนแต่เป็นเครื่องมือที่จะนำไปสู่ความรู้ความเข้าใจ ว่าเราทุกคนต้องChange for Good ต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกัน นำไปสู่พลังจิตอาสาที่มีสมาชิกจำนวนมากขึ้นเพื่อทำให้การขับเคลื่อนกิจกรรมดีๆ ไปสู่การขยายผลที่กว้างขึ้น ที่สำคัญต้องเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งสิ่งที่สำคัญ คือ การสื่อสาร สิ่งที่กระทรวงมหาดไทยในขณะนี้กำลังศึกษาความเป็นไปได้และทดลองสร้างเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนภารกิจตามแผนงานและยุทธศาสตร์ต่างๆ ในแต่ละพื้นที่ โดยการตั้งเป้าหมายการ “บำบัดทุกข์บำรุงสุข” นำองค์กรสู่การขับเคลื่อนองค์กรด้วยข้อมูล หรือ Data Driven Organization ที่มีการนำระบบจัดการและติดตามข้อมูลในระบบสารสนเทศ (Data Monitoring) แบบ Real-time ซึ่งคาดว่าจะเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการติดตามความสำเร็จ และทำให้ทุกคนเห็นภาพ และมีเป้าหมายการทำงาน (Direction) เดียวกัน ที่มุ่งสู่การทำให้พี่น้องประชาชนมีชีวิตที่มั่นคงครอบครัวที่มั่งคั่ง และชุมชนที่ยั่งยืน สมดังวิสัยทัศน์ของกระทรวงมหาดไทย ที่มีความปรารถนาให้ ประชาชนมีรากฐานการดำรงชีวิตและพัฒนาสู่อนาคตได้อย่างมั่นคงและสมดุล ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง.