ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการเคลื่อนไหวการลงมติร่าง พ.ร.ป.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. นั้น ในส่วนพรรคพลังประชารัฐ ได้มีโทรศัพท์ไปยัง ส.ส. ในช่วงเวลา 21.00 น. วันที่ 9 ส.ค.กำชับให้ทุกคนมาร่วมประชุมรัฐสภา ในวันที่ 10 ส.ค. เพื่อให้สามารถเปิดประชุมได้ และโหวตผ่านร่าง พ.ร.บ.กำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรมที่ค้างอยู่ในวาระ 2-3 อีก 5 มาตรา เนื่องจากเป็นกฎหมายปฏิรูปประเทศ ที่สำคัญหากไม่ผ่านทุกฝ่ายต้องรับผิดชอบร่วมกัน ตั้งแต่ ครม. ส.ส. และ ส.ว. จากนั้นขอให้ทุกคนออกจากห้องประชุม ไม่ต้องอยู่พิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.

อย่างไรก็ตามในการประชุมร่าง พ.ร.ป.ดังกล่าว ได้มี ส.ส.ขาใหญ่เดินมาบอก ส.ส.พลังประชารัฐ ที่ยังอยู่ในห้องประชุมให้เดินออกจากห้องประชุม มิเช่นนั้นจะจดชื่อ ส่งต่อให้หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ แต่ปรากฏว่า ยังมี ส.ส.พลังประชารัฐ 10 กว่าคน นั่งอยู่เพื่อแสดงตนเป็นองค์ประชุมในการพิจารณาร่างกฎหมายลูก จนมีโทรศัพท์จาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ โทรศัพท์หา ส.ส.พลังประชารัฐ ที่ยังนั่งอยู่ในห้องประชุมแบบเรียงตัว เพื่อให้ออกจากห้องประชุม จน ส.ส.หลายคนเดินออกจากห้องประชุม แต่ยังมี ส.ส.3-4 คน ที่ยังขานชื่อเป็นองค์ประชุม อาทิ น.ส.กัลยา รุ่งวิจิตรชัย ส.ส.สระบุรี น.ส.กุลวลี นพอมรบดี ส.ส.ราชบุรี นายจักรพันธ์ พรนิมิต ส.ส.กทม. น.ส.วทันยา บุนนาค ส.ส.บัญชีรายชื่อ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในส่วนพรรคภูมิใจไทย ปรากฏว่า แกนนำพรรคและ ส.ส.ได้แสดงตนเป็นองค์ประชุมอย่างพร้อมเพรียง นำโดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ในฐานะเลขาธิการพรรคมาคุมด้วยตัวเอง

ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์มีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรค มานั่งคุมสมาชิกในห้องประชุม

ส่วนพรรคก้าวไกล มี ส.ส.แสดงตนเป็นองค์ประชุมพรัอมหน้า มีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรค นั่งคุมอยู่

ขณะที่พรรคเพื่อไทย ส.ส.พากันเดินออกจากห้องประชุม ไม่อยู่ร่วมแสดงตนเป็นองค์ประชุม ยกเว้นนายการุณ โหสกุล และ น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส.กทม. ที่ประกาศแสดงตนเป็นองค์ประชุมในครั้งนี้

นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อนายทะเบียนพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ให้สัมภาษณ์หลังจากนี้ไปจนถึงวันที่ 15 ส.ค. จะครบกำหนด 180 วัน ที่ต้องพิจารณาร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. ให้แล้วเสร็จ ไม่มีการนัดประชุมร่วมรัฐสภาแล้ว หมายความว่า สภาไม่สามารถพิจารณาร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. ได้ทัน 180 วัน ทำให้ร่างดังกล่าวมีอันตกไป ต้องนำร่างหลักที่เคยเสนอต่อที่ประชุมร่วมรัฐสภามาใช้ แต่ต้องดูขั้นตอนว่าต้องส่งไปสอบถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือศาลรัฐธรรมนูญ และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หรือไม่ ซึ่งอยู่ในขั้นตอนของรัฐสภาและยืนยันพรรคภูมิใจไทย ไม่ผิดหวังและไม่มีปัญหา ไม่ว่าจะใช้สูตรการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อแบบหาร 100 หรือหาร 500.