เชื่อว่าใครหลายๆ คงทราบดีว่าเวลาถึงช่วงวันแม่ เหล่าลูกทุกคนต้องจัดเตรียมซื้อดอกมะลิ เพื่อไปกราบไหว้มารดา เพื่อระลึกนึกถึงการเลี้ยงดูของท่านที่อบรมสั่งสอน และเพื่อขออโหสิกรรมสิ่งที่พลาดพลั้งไปโดยไม่ตั้งใจ หรือไม่ทันยั้งคิดก็ตาม อีกทั้งเป็นการเพิ่มความสิริมงคลกับชีวิต แต่ทว่าเพื่อนๆ เคยสงสัยไหม “ทำไมดอกมะลิจึงเป็นสัญลักษณ์ของวันแม่” ถ้าใครสงสัยวันนี้ เดลินิวส์ มีคำตอบมาบอก 

ที่มาดอกมะลิ 

ดอกมะลิ (Jasminum spp.) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Jasminum sambac Ait เป็นไม้พุ่มหรือไม้เถาในวงศ์มะลิ มีประมาณ 200 ชนิด มีถิ่นกำเนิดในพื้นที่เขตร้อนและกึ่งเขตร้อนในแถบทวีปยุโรป, เอเชีย, แอฟริกา ลักษณะดอกและกลิ่นมีความแตกต่างกันไปตามแต่ละชนิดหรือพันธุ์ โดยเป็นดอกไม้ที่คนไทยคุ้นเคยมาช้านาน มีความเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของคนไทยมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจุบัน และที่สำคัญดอกมะลิเป็นดอกไม้ที่ได้รับ ยกย่องว่าเป็นสัญลักษณ์ของความดีและความบริสุทธิ์ แต่ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเข้ามาประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. อะไร

นอกจากนี้คนไทยนิยมใช้ดอกมะลิที่ปลูกไว้ตามบ้าน ลอยในน้ำเพื่อใช้ล้างหน้า หรือนำไปลอยในน้ำเย็นสำหรับดื่มแก้กระหาย กลิ่นหอมชื่นใจ อีกทั้งยังสามารถนำมาลอยในน้ำเชื่อม น้ำหวานเพื่อแต่งกลิ่นขนมได้อีกด้วย และที่สำคัญ สามารถนำมาทำพวงมาลัยไว้สำหรับบูชาพระ หรือมอบให้กับผู้ที่เคารพ ดอกมะลิจึงถือเป็นดอกไม้มงคลที่ใช้ในกิจกรรมสำคัญที่เสริมสิริมงคล

ดอกมะลิกับวันแม่แห่งชาติ 

มีความเชื่อมโยงกันมาตั้งแต่ประเทศไทยเริ่มจัดงานวันแม่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ.2486 ณ สวนอัมพร โดยมีกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้จัดงาน ต่อมามีการเปลี่ยนกำหนดงานวันแม่หลายครั้ง จนกระทั่งในปี พ.ศ.2519 คณะกรรมการอำนวยการสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เห็นว่า ควรกำหนดวันแม่ให้แน่นอน โดยให้ถือว่า วันเสด็จพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ วันที่ 12 สิงหาคม เป็นวันแม่แห่งชาติ และกำหนดให้ดอกมะลิเป็นดอกไม้สัญลักษณ์ของวันแม่ตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ ดอกมะลิกลายสัญลักษณ์หนึ่งที่เคียงคู่ วันแม่ 

ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพ : @วิกิพีเดีย,@pixabay