“มองไกล เห็นใกล้” แม้ภาพลักษณ์โรงรับจำนำถูกตีตรา…เป็นสถานที่ต้องห้าม ที่มีแต่คนถังแตกจะเดินเข้าไป แต่จากสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันพบว่าประชาชนหันมาพึ่งพา เดินเข้าหา “หลงจู๊” ตีราคาทรัพย์กันเป็นแถว ยามต้องใช้เงินด่วน

ถือเป็นสถานที่ที่สามารถถือ “ทรัพย์สิน” มาแปลงเป็น “เงินสด” ได้ง่ายและเร็วที่สุด!

“เพิ่มโรงรับจำนำ” เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สิน เป็นหนึ่งแนวคิดที่รัฐบาล “ลุงตู่” ดำเนินการในปี 64 หวังแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน แม้จะถูกส่ายหัว เหตุที่หลายฝ่ายกังวลว่าการเพิ่มโรงจำนำจะทำให้คนจนหมดตัว ล่าสุดเม็ดเงิน 500 ล้านบาท เป็นจำนวนที่ ครม.มีมติเห็นชอบให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ต่ออายุสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีจากธนาคารออมสินออกไปอีก 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.65-30 ก.ย.67 โดยกระทรวงการคลังไม่ค้ำประกัน

ทั้งนี้ เพื่อเป็นเงินทุนสำรองหมุนเวียนรับจำนำและเสริมสภาพคล่องให้สอดรับภาวะเศรษฐกิจที่กระทบต่อค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น จนทำให้ประชาชนมาใช้บริการต่อเนื่อง

พูดง่ายๆ ให้เข้าใจคือ เติมเงินเข้าไปที่โรงจำนำเพื่อให้ชาวบ้านตาดำๆ ได้นำของไป “ตึ๊ง” ปัดติโถ…!!! จะแก้ทั้งทีก็ขอแก้ให้ถูกจุด เกาให้ถูกที่คันหน่อยก็ไม่ได้

แทนที่จะช่วยให้ประชาชนลดหนี้ กลับสร้างหนี้อีกระลอก หรือว่านี่เป็นวิธีแก้ไขปัญหาแบบฉบับลุงๆ ชั่วโมงนี้จะเอาอะไรไปจำนำ แก้ว แหวน เงิน ทอง อันตรธานหายไป พร้อมกับการ “ปั๊มหัวแม่มือ” ตีตราตั๋วจำนำตั้งแต่โควิดหลายระลอก เหลืออย่างเดียวเอารัฐบาลลุงตู่ไปจำนำได้ไหม…เผื่ออะไรจะดีขึ้นบ้าง

ว่าก็ว่าเถอะ…มิต่างอะไรกับภาษิตไทยที่ว่า “กินอยู่กับปาก อยากอยู่กับท้อง” รู้ทั้งรู้แต่แสร้งทำเป็นไม่รู้ว่า เศรษฐกิจตอนนี้ย่ำแย่แค่ไหน หันซ้ายแลขวา ข้าวของแพงทุกสิ่งอย่าง สวนทางรัฐบาลป่าวประกาศเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น มองความจริงทุกวันนี้คนไทยหน้าแห้งไม่พอ กระเป๋าตังค์ก็แฟบไปตามๆกัน

เขามีแต่จะลดจำนวนโรงรับจำนำ แต่นี่จะเพิ่มแถมอัดฉีดเม็ดเงิน ไม่ต่างกับการสนับสนุนให้กับคนเป็นหนี้มากยิ่งขึ้น จะว่าไปข้อดีก็มีอยู่ เพื่อให้ประชาชนมีเงินมาหมุนเวียน แต่ท่านทั้งหลายลืมฉุกคิดหรือไม่ เม็ดเงินที่อัดฉีดไปไม่ใช่จำนวนน้อยๆ ในทางกลับกันหากนำไปตัดเข้าระบบเพื่อหวังกระตุ้นเศรษฐกิจสามารถทำได้หลายวิธี ทั้งเพิ่มรายรับ, ลดต้นทุนรายจ่าย หรือเพิ่มประสิทธิแรงงานผลักดันทักษะฝีมือ สร้างงานเพื่อให้เกิดการจ้างงานที่มากขึ้น

ท้ายที่สุดมีคนเปรียบเปรยว่าเศรษฐกิจดีหรือไม่ดี ให้ดูว่าคนเข้าโรงรับจำนำมาก-น้อยแค่ไหน ปล่อยให้ทรัพย์หลุดจำนำสัดส่วนเท่าไหร่ ก็ได้แต่ภาวนาว่าเม็ดเงินที่อัดฉีดไปจะประคองสถานะการเงินคนไทยให้คล่องขึ้นไม่มากก็น้อย

แต่หากสัดส่วนการปล่อยให้ทรัพย์หลุดจำนำเกิน 7% เมื่อไหร่ ย่อมเป็นสัญญาณ “ร้าย” เพราะนั่นหมายถึงเงินในกระเป๋าหายไป จนแทบไม่เหลือแม้กระทั่งไถ่ถอนทรัพย์สินอันมีค่าของตัวเอง.

นายอัคคี