เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 11 ส.ค. ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาวาระต่างๆ ตามปกติ กระทั่งเวลา 14.00 น. ที่กำลังเข้าสู่วาระพิจารณารับทราบรายงานผลปฏิบัติงานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย หารือเปลี่ยนวาระประชุม เสนอญัตติด่วนด้วยวาจาของนายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย และนายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เรื่องความเหมาะสมการดำรงตำแหน่ง 8 ปี ของนายกรัฐมนตรี

โดยนายสุทิน กล่าวว่า ขอให้ระดมความเห็นเสนอต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 158 ระบุการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ไม่เกิน 8 ปี เป็นประเด็นที่สังคมจับตา ในฐานะสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ตั้งนายกรัฐมนตรี ดังนั้น เมื่อถึงคราวนายกรัฐมนตรีจะหลุดจากตำแหน่งหรือไม่ สภาผู้แทนราษฎรจะนิ่งนอนใจไม่ได้ ต้องมีความเห็นแนะนำนายกรัฐมนตรีให้ทำตามรัฐธรรมนูญ

ขณะที่นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ขณะนี้กำลังเผชิญวิกฤติรัฐธรรมนูญที่สังคมตั้งคำถามผู้บริหารประเทศจะอยู่ได้อีกนานแค่ไหน พ้นวันที่ 24 ส.ค. ไป จะเป็นนายกรัฐมนตรีเถื่อนหรือไม่ แต่ปรากฏว่า ถูกทักท้วงจาก ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลว่า ฝ่ายค้านใช้สภาเป็นเครื่องมือกดดันผู้มีอำนาจ ทั้งที่สภาไม่มีอำนาจชี้ขาด แต่ศาลเป็นผู้ตัดสิน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างนั้น นายรงค์ บุญสวยขวัญ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคพลังประชารัฐ ได้เสนอญัตติด่วนด้วยวาจา ขอให้ดำเนินการประชุมตามวาระปกติ ในที่สุดนายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 ที่ทำหน้าที่ประธานการประชุม ขอให้ที่ประชุมลงมติจะนำญัตติฝ่ายค้านพิจารณาเป็นเรื่องด่วนหรือไม่ เมื่อมีการแสดงตนก่อนลงมติ ปรากฏว่า ส.ส.แสดงตนเพียง 124 คน ไม่ถึงกึ่งหนึ่งคือ 239 คน จากจำนวน ส.ส.ที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ 478 คน ทำให้องค์ประชุมไม่ครบ นายศุภชัยสั่งปิดประชุมเวลา 15.06 น.

โดยเป็นที่น่าสังเกตว่า แทบไม่มี ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ นั่งอยู่ในห้องประชุมเลย เนื่องจาก ส.ส.หลายคนเตรียมเดินทางไปร่วมงานวันเกิดครบ 77 ปี ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ในเวลา 17.00 น. วันที่ 11 ส.ค. ที่มูลนิธิป่ารอยต่อฯ.