เมื่อวันที่ 11 ส.ค. ที่ห้องประชุม 5001 กรมการพัฒนาชุมชน (พช.) นายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรม พช. ให้การต้อนรับ มร.แจนมีเจย์ ซิงห์ (Mr. Janmejay Singh) ผู้จัดการด้านความยั่งยืนทางสังคมและการมีส่วนร่วม ภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก และคณะบุคลากรสังกัดธนาคารโลกในโอกาสเข้าเยี่ยมคารวะอธิบดี พช. และขอหารือแนวทางการดำเนินงานโครงการสนับสนุนการขจัดความยากจนและสร้างความยั่งยืนของเศรษฐกิจฐานราก โดยมีนายนิวัติ น้อยผาง รองอธิบดีพช. นางทัศนีย์ ชัยคุณแสง ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาทุนและองค์กรการเงินชุมชน น.ส.นิภา ทองก้อน ผู้อำนวยการสำนักเสริมสร้างความเข้มแข็งชุมชน น.ส.กาญจนา ทองเกษม ผู้อำนวยการกองแผนงาน และบุคลากรสังกัด พช.ที่เกี่ยวข้อง ร่วมให้การต้อนรับ

นายสมคิด กล่าวว่า ได้แลกเปลี่ยนข้อมูลความก้าวหน้าการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลประเด็น การขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ให้ความสำคัญในเรื่องการแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างเป็นระบบและยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยดำเนินการแบบพุ่งเป้ารายครัวเรือนและให้ความช่วยเหลือครอบคลุม 5 มิติ (มิติสุขภาพ ความเป็นอยู่ การศึกษา รายได้ และมิติการเข้าถึงบริการภาครัฐ) ในขณะนี้ ได้มีการบูรณาการให้ความช่วยเหลือครัวเรือนเป้าหมายจากหน่วยงานภาครัฐและภาคีการพัฒนาทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่องตามกรอบระยะเวลาภายในวันที่ 30 ก.ย. 2565

นายสมคิด กล่าวต่อว่า สำหรับการพัฒนาข้อเสนอโครงการภายใต้ความร่วมมือระหว่างธนาคารโลกกับ พช. ได้แก่ โครงการสนับสนุนการขจัดความยากจนและสร้างความยั่งยืนของเศรษฐกิจฐานรากนั้น มีความสอดคล้องกับบทบาทและภารกิจของ พช.ในด้านการบริหารจัดการชุมชนให้มีความเข้มแข็ง อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าวต้องกำหนดวัตถุประสงค์และขอบเขตการดำเนินงานให้สอดคล้องกับเป้าหมายของศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) “อยู่รอด-พอเพียง-ยั่งยืน” ซึ่ง พช. มีความยินดีและพร้อมสนับสนุนการพัฒนาข้อเสนอโครงการฯ ดังกล่าว 

ด้าน มร.แจนมีเจย์ ซิงห์ (Mr. Janmejay Singh) กล่าวขอบคุณอธิบดี พช.และคณะ ที่ได้ให้การต้อนรับและเปิดโอกาสให้แลกเปลี่ยนแนวทางการดำเนินงานด้านการขจัดความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ (Poverty Eradication) ซึ่งเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญของธนาคารโลก ตนและทีมงานจะได้นำประสบการณ์การขับเคลื่อนการขจัดความยากจน (Graduation Approach Model) ที่ดำเนินการในประเทศอื่นๆ มาปรับใช้เพื่อการพัฒนาข้อเสนอโครงการ รวมถึงจะได้พิจารณารายละเอียดประเด็นการพัฒนาแผนระดับพื้นที่ (One Plan) การบริหารจัดการและสร้างทักษะทางการเงิน (Financial Literacy) และประเด็นอื่นๆ ให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น.