เมื่อวันที่ 12 ส.ค. ที่ท้องสนามหลวง นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน กล่าวถึงความคืบหน้าการพิจารณาขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ว่าจะต้องมีการปรับตามสถานการณ์ของเงินเฟ้ออยู่แล้ว โดยดูว่าฐานเงินเฟ้อในประเทศไทยเท่าไหร่ แล้วเอามาเป็นตัวหลัก ซึ่งเรื่องนี้มีไตรภาคี จังหวัดที่จะพิจารณาก่อน มีทั้งลูกจ้าง นายจ้างและฝ่ายรัฐบาลอยู่ในไตรภาคีจะสุ่มตัวเลขมาว่า พอใจที่ตัวเลขเท่าไหร่ ส่วนกลางจะมาพิจารณาอีกทีว่าที่ไตรภาคีเสนอมานั้นเหมาะสมหรือไม่ อย่างไรก็ตามได้ให้นโยบายกระทรวงแรงงานไปว่า การปรับค่าแรงอยากให้กระชับ ให้ช่วงสั้น ยังมีหลายกลุ่ม ส่วนการประกาศใช้ปกติ หลายคนอยากให้พูดในวันที่ 1 ม.ค. แต่ในความเป็นจริง เราต้องยอมรับว่าของสินค้าต่างๆ ขึ้นราคาไปแล้ว ถ้าเราไปประกาศก่อน แล้วไปมีผลบังคับใช้ในเดือน ม.ค. อาจทำให้มีการขึ้นราคาสินค้าอีกรอบหนึ่ง ซึ่งจะไม่มีผลอะไรในการที่เราได้ปรับค่าแรง

อย่างไรก็ตามเท่าที่ได้พูดคุยกับนายจ้างและผู้ประกอบการเขายอมรับในตัวเลขนี้ เพราะที่ผ่านมา รัฐบาลได้ช่วยเหลือผู้ประกอบการเหล่านี้ไปจำนวนมาก หลายหมื่นล้านบาท ขณะเดียวกันประกันสังคมก็ลดหย่อนไปแล้วถึง 6 รอบ แต่ละรอบเป็นหมื่นล้านบาท ทั้งนายจ้างและลูกจ้าง เพื่อพยุงให้มีการจ้างงาน ลดค่าใช้จ่าย ลดค่าของชีพ วันนี้จึงต้องขอความร่วมมือนายจ้าง ซึ่งเขาให้ความร่วมมือ ก็จะพยายามปรับให้เร็วกว่า 1 ม.ค.

เมื่อถามถึงกรอบในการปรับตัวเลขแต่ละโซนค่าแรง นายสุชาติ กล่าวว่าจะดูพื้นที่โซนอุตสาหกรรมหลักๆ ก่อน เช่น ภูเก็ต กรุงเทพฯพื้นที่อีอีซี ซึ่งโซนเหล่านี้ถือเป็นหัวแถวอยู่แล้ว แต่จะปรับกี่เปอร์เซ็นต์ ต้องพิจารณาให้เหมาะสม เท่าที่ดูตัวเลขคร่าวๆ ประมาณ 5-8% ให้รับได้ทั้งนายจ้างและลูกจ้าง

เมื่อถามว่า รัฐบาลยืนยันขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำให้กับผู้ใช้แรงงานแน่นอนใช่หรือไม่ นายสุชาติ กล่าวว่า แน่นอนเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม เป็นไทม์มิ่งเหมาะสม ซึ่งตอนนั้นยังใช้มาตรา 75 อยู่ หากปรับในตอนนั้นนายจ้างจะเอาเงินที่ไหนจ่าย สุดท้ายอาจจะต้องตกงานกัน แต่เมื่อเราประคับประคอง นายจ้างและลูกจ้างก็จะอยู่ได้

เมื่อถามว่า หากไตรภาคีพิจารณาเคราะห์ในวันที่ 26 ส.ค. แล้วจะเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เมื่อไหร่ นายสุชาติ กล่าวว่า คาดว่าจะเข้า ครม.ได้ในเดือน ก.ย.