เมื่อวันที่ 7 ส.ค. นายนิวัติไชย เกษมมงคล รองเลขาธิการกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะโฆษก ป.ป.ช.กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร สาขาสังคม การบริหาราชการแผ่นดิน และการบังคับใช้กฎหมาย เห็นสมควรให้ ป.ป.ช. เปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี หลังจากก่อนหน้านี้ ป.ป.ช.ไม่ยอมเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินดังกล่าวว่า คาดว่า พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช.จะนำเรื่องดังกล่าวเข้าหารือในที่ประชุม ป.ป.ช.ว่าจะต้องเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินของ พล.อ.ประยุทธ์ และนายวิษณุหรือไม่ โดยต้องพิจารณาข้อกฎหมายที่คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารฯ ขอให้ ป.ป.ช.เปิดเผยบัญชีทรัพย์สินนั้น เป็นการยึดกฎหมายฉบับใด มีกฎหมาย ป.ป.ช.รองรับหรือไม่ ถ้า ป.ป.ช.ไปเปิดเผยโดยไม่มีข้อกฎหมายใดรองรับ พล.อ.ประยุทธ์และนายวิษณุ อาจฟ้อง ป.ป.ช.ผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ได้ว่า ไม่มีอำนาจเปิดเผยแต่กลับนำไปเปิดเผย พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารจะคุ้มครองและรับผิดชอบแทน ป.ป.ช.อย่างไร
นายนิวัติไชย กล่าวว่า ที่ผ่านมาคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารเคยมีคำสั่งให้ ป.ป.ช.เปิดเผยข้อมูลข่าวสารเช่นกัน บางกรณี ป.ป.ช.เปิดเผยให้ แต่บางกรณีก็ไม่เปิดเผย ต้องดูเป็นข้อมูลเปิดเผยได้หรือไม่ กรณี พล.อ.ประยุทธ์และนายวิษณุ ต้องพิจารณาว่า ถ้าเป็นการยื่นบัญชีทรัพย์สินตามมาตรา 102 พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 ที่ให้ผู้ดำรงตำแหน่งทาง การเมืองยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช. กรณีเข้ารับตำแหน่ง พ้นตำแหน่งและพ้นจากตำแหน่ง 1 ปี ก็ต้องเปิดเผยให้สาธารณะรับทราบ แต่ตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช. มาตรา 105 มีเงื่อนไขว่า กรณียื่นบัญชีทรัพย์สิน ถ้าผู้ยื่นพ้นจากตำแหน่งและได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใหม่ภายใน 1 เดือน ผู้นั้นไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินกรณีเข้ารับตำแหน่งใหม่ แต่ไม่ห้ามหากผู้นั้นจะยื่นบัญชีทรัพย์สินไว้เป็นหลักฐาน พล.อ.ประยุทธ์ เคยพ้นจากตำแหน่งนายกฯ และเข้ารับตำแหน่งนายกฯ หลังเลือกตั้งในช่วงเวลา 1 เดือน จึงไม่เข้าข่ายต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินรอบใหม่ แต่หาก พล.อ.ประยุทธ์ ยื่นมาจะถือเป็นการยื่นเพื่อข้อมูลหลักฐานตามมาตรา 105 ถือเป็นข้อมูลส่วนตัวที่ ป.ป.ช.จะเก็บข้อมูลไว้เท่านั้น แต่ไม่สามารถเปิดเผยได้ ส่วนการวิจารณ์ ป.ป.ช.ปกปิดข้อมูลทรัพย์สินช่วยนายกฯ นั้น ขึ้นอยู่กับมุมมองข้อกฎหมายแต่ละคน เรื่องนี้ต้องรอที่ประชุม ป.ป.ช.พิจารณาว่าจะเห็นอย่างไร.