ท่ามกลางปรากฏการณ์ “สภาล่ม” พลิกเกมล้มโหวตสูตรคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ จนถูกมองว่าเป็น “เกมล่มสภาเพื่อผลประโยชน์” ปิดทางสูตรหาร 500 เพราะหากท้ายที่สุดแล้วที่ประชุมรัฐสภาพิจารณา ร่างกฎหมายดังกล่าว ไม่แล้วเสร็จภายในกรอบ 180 วัน หรือวันที่ 15 ส.ค. ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 132 กำหนด ให้กลับไปใช้ร่างของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่เสนอมาคือ การคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อแบบ สูตรหาร 100 ซึ่งเป็นสิ่งที่พรรคการเมืองบางพรรคหวังใจไว้

โดย “เกมล่มสภา” ครั้งล่าสุด ส.ส.หลายพรรคเดินออกจากห้องประชุมอย่างจงใจ ขณะที่พรรคการเมืองขนาดใหญ่ อย่างพรรคเพื่อไทย และ พรรคพลังประชารัฐ มีจำนวน ส.ส.หายไปจากห้องประชุมสภามากกว่า 92% ของจำนวน ส.ส.ของพรรค

ซึ่งในส่วนของพรรคพลังประชารัฐ ถึงกับมีข่าวลือหนาหูว่า มีการโทรศัพท์กำชับ ส.ส.ของพรรค ออกจากห้องประชุม ไม่ต้องอยู่พิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ส่วนใครที่ยังดื้ออยู่ในห้องประชุม ก็โดน “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค โทรสั่งให้ออกจากห้องประชุมกันแบบเรียงตัว ในส่วนของพรรคเพื่อไทย แม้ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย จะออกมาชี้แจงว่า พรรคแสดงเจตจำนงอย่างชัดเจนว่าไม่สนับสนุน กับกฎหมายฉบับหาร 500 เพราะขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ แต่การที่ ส.ส.จาก 2 พรรคการเมืองใหญ่ พร้อมใจกันออกจากห้องประชุม ก็ทำให้ถูกสังคมตั้งคำถามว่ามีการ “ฮั้ว” ทางการเมืองหรือไม่

ขณะที่สมาชิกรัฐสภาหลายคน ได้ออกมาตั้งข้อสังเกตถึงเรื่องที่เกิดขึ้นไว้อย่างน่าคิด โดยเฉพาะ นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ ที่มองว่า เกมล่มสภา เกมสมประโยชน์ของนักการเมือง ตอกย้ำคำว่าไม่มีมิตรแท้และศัตรูที่ถาวร เมื่อสองฟากฝั่ง ที่ห้ำหั่นจะเป็นจะตาย ดังเช่น พรรคพลังประชารัฐ กับ พรรคเพื่อไทย กระโดดข้าม “รูหนอน” ลัดมิติ จูบปากกัน เล่นเกมล่มสภา… พร้อมกันนั้นยังทิ้งท้ายว่า “หลายคนในสภาวิเคราะห์เกมนี้กันไปต่างๆ นานา แต่ที่หลายคนคิด คือ หรือว่านี่ เป็นสัญญาณการฟอร์ม ครม.ล่วงหน้า”

แม้งานนี้ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม จะโยนว่า กฎหมายว่าอย่างไรก็ว่างั้น เป็นเรื่องของสภา แต่เมื่อวิเคราะห์ถึงเรื่องอำนาจและบารมีทางการเมืองแล้ว จะเห็นได้ชัดว่าชื่อของ “บิ๊กป้อม” กลายมาเป็นผู้มากบารมีทางการเมืองอย่างแท้จริง ไล่ตั้งแต่ผลโหวตในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่ได้เสียงโหวตไว้วางใจสูงสุดในบรรดา 11 รัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ และยังมีเสียงโหวตไม่ไว้วางใจน้อยที่สุดเป็นของแถมอีกด้วย จนถึงเกมในสภาที่มีชื่อ “บิ๊กป้อม” เกี่ยวพันกับเหตุการณ์สภาล่มเมื่อวันที่ 10 ส.ค. ตลอดจนเหตุการณ์สภาล่มในวันที่ 11 ส.ค. จากการที่ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ เตรียมเดินทางไปร่วมงานวันเกิดครบ 77 ปี ของ “บิ๊กป้อม” นั่นเอง

ดังนั้นจึงยากจะปฏิเสธได้ว่า “บิ๊กท็อปบู๊ต” รายนี้เป็นผู้มากบารมีทางการเมืองอย่างแท้จริง ถึงขั้นสามารถล่ม 1 ใน 3 เสาหลักประชาธิปไตยได้ง่ายดาย ซึ่งจะสอดคล้องกับวลีอมตะของ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่เคยพูดไว้ว่า “เขาอยากอยู่ยาว”

แม้สิ่งที่เกิดขึ้นจะสะท้อนถึงอำนาจในการคุมเกมในสภาได้อย่างเบ็ดเสร็จ แต่ในทางกลับกันอย่าลืมว่าประชาชนที่เป็นผู้ตัดสินยังคงจับตาดูอยู่ และพร้อมที่จะลงโทษในการเลือกตั้ง ที่จะเกิดขึ้นเร็วๆนี้

นอกจากเกมในสภาที่ต้องลุ้นระทึกแล้ว ยังมีปมร้อนนอกสภาที่ต้องลุ้นระทึกเช่นกัน โดยเฉพาะประเด็นวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ของ “บิ๊กตู่” นับจากวันที่ 23 ส.ค.นี้ เป็นต้นไป จะถือได้ว่าครบวาระ 8 ปีติดต่อกันหรือไม่ ซึ่งมีการเดินเกมยื่นคำร้อง กกต. และผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อส่งต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความในเรื่องดังกล่าวแล้ว รวมถึงพรรคเพื่อไทยเองก็เตรียมยื่นคำร้องศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 17 ส.ค.นี้

แม้งานนี้วงหารือบนตึกไทยคู่ฟ้าจะเชื่อมั่นว่า “บิ๊กตู่” จะไม่มีปัญหาเรื่อง 8 ปีอย่างแน่นอน และจะผ่านไปได้ด้วยดี และมีการคาดการณ์ว่าจะออกมาในแนวทางครบวาระ 8 ปี ในวันที่ 5 เม.ย. 2568 โดยนับจากวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 เมื่อวัน 6 เม.ย. 2560

แต่ในทางกลับกันก่อนหน้านี้มีการเผยแพร่เอกสารที่อ้างอิงความเห็นของ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธาน กรธ. และ นายสุพจน์ ไข่มุกด์ รองประธาน กรธ.คนที่หนึ่ง ตามบันทึกการประชุม กรธ. วันที่ 7 ก.ย. 2561 ที่สรุปความได้ว่า “การนับวาระดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี ให้นับรวมวาระที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ก่อนที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ใช้บังคับด้วย” แม้ล่าสุด นายสุพจน์ ไข่มุกด์ จะออกมาชี้แจงว่า บันทึกการประชุมที่ถูกเปิดเผยเป็นความเห็นเริ่มแรก และเป็นความเห็นไม่กี่คน ไม่ใช่มติ กรธ. ไม่ใช่เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ พร้อมย้ำว่า การนับวาระนายกฯ มองว่าเริ่มตั้งแต่วันโปรดเกล้าฯ แต่ท้ายสุดต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญมีความเห็น

ขณะที่ “บิ๊กป้อม” ก็เกิดอาการ “หลุดปาก” เมื่อสื่อมวลชนป้อนคำถามว่าพร้อมเป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ โดยได้คำตอบว่า “ผมจะพร้อมได้อย่างไร ยังไม่ได้คิดเลย นายกรัฐมนตรีจะอยู่ต่ออีก 2 ปีก็ว่ากันไป” ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางว่าวาระดำรงตำแหน่งนายกฯเริ่มนับจากวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 และ “บิ๊กตู่” จะครบวาระ 8 ปี ในวันที่ 5 เม.ย. 2568 หรืออีก 2 ปีหลังรัฐบาลปัจจุบันหมดวาระ

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น…อะไรก็เกิดขึ้นได้! หากสุดท้ายแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าวาระการดำรงตำแหน่งเริ่มนับตั้งแต่ปี 2557 ก็จะทำให้ “บิ๊กตู่” เป็นอันต้องลงจากอำนาจ และหากคนที่มารับช่วงตำแหน่งนายกฯต่อ คือ “บิ๊กป้อม” แม้จะพอขัดตาทัพในการนำพารัฐบาลเดินต่อไปได้ แต่หากจะชู “บิ๊กป้อม” สู้ศึกในสนามเลือกตั้งครั้งต่อไป อาจจะเป็นโจทย์ยาก!

ปรับโฟกัสมาที่ความเคลื่อนไหวของพรรคการเมือง ที่เริ่มมีการฟิตซ้อมลงพื้นที่กันให้เห็นอย่างคึกคัก ที่น่าสนใจที่สุดคือความเคลื่อนไหวของ 2 แกนนำพรรคร่วมรัฐบาล ทั้งพรรคภูมิใจไทย และ พรรคประชาธิปัตย์ จากการเดินเกมรุกในพื้นที่ภาคใต้ของพรรคภูมิใจไทย ที่เข้าตีพื้นที่ฐานเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ในจังหวัดพังงา ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์เองก็บลัฟกลับว่า พรรคประชาธิปัตย์ตั้งเป้าจะกวาด ส.ส.ในพื้นที่ภาคใต้ 30-40 ที่นั่ง ซึ่งก็เป็นบรรยากาศการเชือดเฉือนกันในสนามเลือกตั้ง ที่จะมีให้เห็นมากยิ่งขึ้นหลังจากนี้

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเมื่อดูคะแนนรวมทั้งประเทศ ก็จะเห็นได้ชัดว่ากลุ่มคะแนนของพรรคฝ่ายรัฐบาล ยังเป็นรองกลุ่มคะแนนของฝ่ายค้าน และมีแนวโน้มคะแนนลดลงไปเรื่อยๆ จากผลการบริหารงานของรัฐบาลที่ทำเอาประชาชนตกอยู่ในสภาวะ “ตกทุกข์ได้ยาก” กันถ้วนหน้า

ขณะที่คะแนนของพรรคฝ่ายค้าน ที่มีฐานเสียงเดิมเป็นต่อรัฐบาลอยู่แล้ว ก็มีแนวโน้มที่จะได้คะแนนเสียงจากฐานเสียงรัฐบาลเพิ่มขึ้น ทั้งปัจจัยเรื่องการทำงานของรัฐบาล ประกอบกับการปรับตัวของพรรคเพื่อไทย ที่เป็นไปอย่างน่าสนใจ ทั้งการคัดสรรคนรุ่นใหม่ลงสู้ศึกในสนามเลือกตั้งมากขึ้น เพื่อดึงเสียงจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ เพื่อให้ไปถึงฝั่งฝันสร้างปรากฏการณ์แลนด์ไสลด์ทางการเมือง ซึ่งเรื่องนี้รัฐบาลประมาทไม่ได้เลย

อีกความเคลื่อนไหวที่น่าจับตาคือการ “อุ่นเครื่องเกมการเมืองนอกสภา” จากการจัดการชุมนุม “10 สิงหา 65 ประชาธิปไตยต้องไปต่อ” ที่ลานพญานาค มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ในวันครบรอบ 2 ปีการชุมนุม 10 ส.ค. 2563 โดยมีกลุ่มมวลชนคน และนักศึกษาเข้าร่วมกว่า 2,000 คน ซึ่งอาจจะกลายเป็นจุดตั้งต้นการปลุกพลังนักศึกษาและคนรุ่นใหม่ สอดรับกับปมร้อนวาระ 8 ปี “บิ๊กตู่” จนเกิดการชุมนุมใหญ่ขึ้นอีกครั้งก็เป็นได้

สุดท้ายแล้วประชาชนคนไทยอาจจะต้องอยู่ในวังวนของเกมการเมือง-เกมอำนาจ ที่ต้องลุ้นระทึกกันไม่รู้จบ!.