การมีงานทำ เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยสร้างความภาคภูมิใจในตัวเอง ดูแลตัวเองได้ ดังนั้น กระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จึงมุ่งเน้นในการเสริมสร้างทักษะอาชีพให้กับคนทุกกลุ่มสามารถนำไปประกอบอาชีพเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้ ไม่ปล่อยให้ข้อจำกัดทางร่างกายเป็นอุปสรรค

ซึ่งเรื่องนี้ นายประทีป ทรงลำยอง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน บอกว่า นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน มีความห่วงใยประชาชนในกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะคนพิการ ที่ต้องการทำงาน เพื่อหาเลี้ยงตนเองและครอบครัว จึงมอบหมายให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน พัฒนาทักษะให้แก่แรงงานกลุ่มดังกล่าวให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำ และเสริมสร้างโอกาส ให้คนพิการในประเทศไทยสามารถเข้าถึงสวัสดิการและบริการของรัฐ สามารถประกอบอาชีพเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้อย่างมีศักดิ์ศรี โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ซึ่งเป็นสิ่งที่กรมพัฒนาฝีมือแรงงานดำเนินการมาตลอด และในปี 2565 กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ก็ยังคงเดินหนาโคงการอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งฝึกอบรมแรงงานคนพิการและผู้ดูแลคนพิการให้ได้อย่างน้อย 300 คน จนถึงขณะนี้ดำเนินการฝึกอบรมไปแล้ว 274 คน ใน 15 จังหวัด ประกอบด้วย สมุทรปราการ สุพรรณบุรี อุทัยธานี เพชรบุรี อุตรดิตถ์ สุโขทัย ระนอง สตูล กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี นนทบุรี นครนายก พระนครศรีอยุธยา อุดรธานี และภูเก็ต ส่วนจังหวัดอื่นๆ ก็ได้รับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อดำเนินการฝึกอบรมให้แก่คนพิการแล้ว

“นายประทีป” บอกว่า นโยบายที่ดำเนินการมาตลอดนั้น เห็นผลเป็นรูปธรรม ช่วยให้ผู้พิการสามารถประกอบอาชีพ มีรายได้จริงๆ โดยยกตัวอย่างจังหวัดน่าน ได้รับงบฯ จากจังหวัดให้จัดฝึกอบรมให้ความรู้แก่คนพิการและผู้ดูแลคนพิการ 5 รุ่น รวม 100 คน ทั้งหลักสูตรการทำขนมอบ การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร การแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร และหลักสูตรช่างซ่อมรถเข็นคนพิการ

จากการติดตามผลหลังจบการฝึกพบว่าคนพิการสามารถประกอบอาชีพส่วนตัว หรือรับจ้างในสถานประกอบกิจการ ได้ อย่างเช่น ผู้คนพิการที่ผ่านการฝึกอบรมการซ่อมรถเข็นคนพิการ แล้วบริษัทจ้างให้ทำงานตามมาตรา 35 เดือนละ 9,500 บาทประจำอยู่ที่ศูนย์ซ่อมรถเข็นคนพิการจังหวัดน่าน 

“โชค  มูลถี” หรือ ช่างโชค อายุ 47 ปี เป็นหัวหน้าศูนย์ซ่อมรถเข็นคนพิการจังหวัดน่าน เล่าว่า เมื่อปี 2545 เคยเข้ารับการฝึกอบรม ช่างซ่อมรถเข็นคนพิการ ระยะเวลาการฝึก 165 ชั่วโมง กับสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานน่าน พอมีพื้นฐานความรู้ด้านการซ่อมรถเข็นคนพิการมาบ้าง เพราะเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือคนพิการของสมาคมคนพิการของจังหวัดน่าน ต้องการมีความรู้และทักษะเพิ่มเติมจึงมาเข้าอบรม เมื่อจบจากการฝึกได้ชักชวนเพื่อนๆ ที่เคยอบรมด้วยกัน มาเป็นสมาชิกของศูนย์ซ่อมดังกล่าว เพื่อให้บริการซ่อมรถเข็นให้คนพิการ คิดค่าซ่อมจากวัสดุอุปกรณ์บวกกับค่าแรงเพียง 100-200 บาท ต่อ 1 คัน รายได้ที่สมาชิกทั้ง 6 คน ได้รับเป็นเงินเดือนที่บริษัท บิซิเนส เซอร์วิสเซสฯ เดือนละ 9,500 บาท จึงรู้สึกปลื้มใจที่สามารถนำความรู้มาช่วยเหลือคนพิการด้วยกันในการให้บริการที่ศูนย์ซ่อมแห่งนี้.