เมื่อวันที่ 13 ส.ค. นายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. กล่าวถึงการประชุมร่วมรัฐสภา ในวันที่ 15 ส.ค.ที่จะครบกำหนด 180 วัน ต้องพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ให้แล้วเสร็จตามระยะเวลาที่รัฐธรรมนูญ มาตรา132(1) กำหนดว่า ส่วนตัวมองทิศทางแล้วน่าจะเกิดเหตุสภาล่มเหมือนการประชุมร่วมรัฐสภาวันที่ 10 ส.ค. เพราะหากมาร่วมประชุมแล้วไปลงมติในร่างกฎหมายที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ อาจยิ่งถลำลึกผิดมากกว่าเดิม

นายเสรี กล่าวว่า การแก้รัฐธรรมนูญเป็นบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ต้องใช้วิธีคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อหาร 100 เท่านั้น เป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ การใช้วิธีหาร 500 คำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อไม่ถูกหลักกฎหมาย จะปล่อยให้กฎหมายผ่านไปจนเกิดความเสียหายต่อประเทศไม่ได้ จำเป็นต้องใช้วิธีพิจารณากฎหมายไม่แล้วเสร็จภายในกรอบ 180 วัน ตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 132(1) กำหนดไว้ ให้กลับไปใช้เนื้อหาร่างแรกที่ ครม.เสนอมาคือการใช้สูตร 100 หาร อาจเป็นกระบวนการที่ดูประหลาด แต่เป็นกลไกที่อยู่ในรัฐธรรมนูญ เพราะไม่มีทางเลือกอื่น

“หากให้โหวตวาระ 3 แล้วกฎหมายไม่ผ่าน ต้องไปนับหนึ่งใหม่ทั้งหมด ยิ่งเสียเวลา ถ้าออกกฎหมายเลือกตั้งไม่ทันการเลือกตั้งคราวหน้า ต้องไปออก พ.ร.ก.แทน ยิ่งสร้างความขัดแย้งหนักขึ้น ประชาชนคงไม่ยอม จึงจำเป็นต้องใช้วิธีนี้ ป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤติในประเทศ” นายเสรี กล่าว

นายเสรี กล่าวว่า การใช้กลไกให้กฎหมายลูกเสร็จไม่ทันใน 180 วัน จนเกิดสภาล่ม ถือเป็นกรณีพิเศษ จากการที่รัฐธรรมนูญบัญญัติในมาตรา 132(1) เป็นปรากฏการณ์แปลกใหม่ที่หลายฝ่ายเห็นตรงกัน ไม่ใช่สภาล่มเพราะมีเจตนาไม่ทำงาน ไม่ทำหน้าที่ในฐานะสมาชิกรัฐสภา แต่เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ทำให้ได้กฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.โดยไม่เสียเวลาไปมากกว่านี้ ยืนยันไม่ได้ทำตามใบสั่ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่อยากได้สูตรหาร 100 เพราะตนยืนยันหลักการมาตลอดบัตร 2 ใบ ต้องใช้การหาร 100 เท่านั้น โหวตสนับสนุนการหาร 100 มาตลอด และ ส.ว.หลายคนก็เห็นตรงกันว่า การใช้สูตรหาร 500 ไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ

ขณะที่พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ส.ว. กล่าวว่า หากการประชุมวันที่ 15 ส.ค. องค์ประชุมของรัฐสภาไม่ครบจะทำให้การพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ ไม่แล้วเสร็จตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เป็นเหตุให้กฎหมายฉบับนี้จะต้องตกไป ให้ถือว่ารัฐสภาให้ความเห็นชอบตามร่างของครม. บัตรเลือกตั้งพรรคการเมือง หารร้อยตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 132 (1) ซึ่งเป็นความต้องการของ 2 พรรคการเมืองใหญ่ จึงเป็นเกมการเมืองของฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้าน กับพรรคการเมืองอื่นๆ วุฒิสภาซึ่งกล่าวอ้างเสมอว่ามีความเป็น
กลาง มีหน้าที่กลั่นกรอง ตรวจสอบ ปฎิรูปประเทศ จะเป็นองค์กรนิติบัญญัติหลัก สมควรตระหนัก ใคร่ครวญให้ถี่ถ้วนว่า สมควรที่จะเข้าไปมีบทบาท หรือมีส่วน ไปร่วมมือกับพรรคการเมืองที่แก้ไขกฎหมายเพื่อประโยชน์ของพรรคการเมืองในการเข้าสู่อำนาจบริหาร โดยที่ประชาชนมิได้ประโยชน์ใดๆจากการแก้ไขกฎหมายนี้ ทำให้การประชุมรัฐสภาในวันที่ 15 ส.ค. ไม่ครบองค์ประชุม หรือไม่

“หากจะรักษาไว้ซึ่งองค์กรวุฒิสภา ให้เป็นหลักที่สังคม ไว้วางใจ ว่าเป็นองค์กรหลักเพื่อการแก้ไขปัญหาของชาติที่สำคัญในสถานการณ์ข้างหน้า ส.ว.ทุกคน สมควรจะต้องเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียงกัน เพื่อยืนยันว่า หากองค์ประชุมรัฐสภาไม่ครบ เกิดจากการไม่ปฏิบัติหน้าที่ของส.ส. มิใช่เกิดจากการร่วมผสมโรงของส.ว.” พล.อ.สมเจตน์ กล่าว.