เมื่อวันที่ 13 ส.ค. นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวถึงข้อกังวลของนายจ้างกรณีไม่อนุมัติบัญชีรายชื่อ (Name list) แรงงานต่างด้าวว่า หากนายจ้างได้ยื่นบัญชีรายชื่อแล้วแม้จะยังไม่อนุมัติ แต่ก็สามารถอยู่ทำงานได้ไปพลางก่อนได้ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยและประกาศกระทรวงแรงงาน ส่วนการอนุมัติบัญชีรายชื่อจะดำเนินการอนุมัติภายในวันที่ 15 ต.ค 65 เนื่องจากต้องตรวจสอบเอกสารที่เกี่ยวข้องของแรงงานต่างด้าว เช่น รูปถ่าย อายุ หนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคลของนายจ้าง เพราะจากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่ามีข้อมูลผิดพลาดในหลายประเด็น

ทั้งนี้ นายจ้างและสถานประกอบการ จะต้องดำเนินการตามที่กรมการจัดหางานกำหนดไปตามห้วงเวลา โดยขณะนี้อยู่ในช่วงที่ 1 ที่นายจ้าง/สถานประกอบการ ต้องเร่งลงทะเบียนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อบันทึกข้อมูลและขอรับชื่อผู้ใช้งานพร้อมรหัสผ่าน จากนั้นยื่นบัญชีรายชื่อแจ้งความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าว ต่อกรมการจัดหางาน พร้อมด้วยรูปถ่ายปัจจุบันของคนต่างด้าวซึ่งเห็นภาพใบหน้าชัดเจน แนบหลักฐานผู้รับมอบอำนาจจากนายจ้าง ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ที่เว็บไซต์ alienfivejuly.doe.go.th ภายใน 15 ส.ค. 65

ช่วงที่ 2 วันที่ 16 ส.ค.-15 ต.ค.2565 ชำระค่าธรรมเนียมผ่านธนาคารกรุงไทย โดยมีค่ายื่นคำขอฉบับละ 100 บาท และค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทำงานฉบับละ 900 บาท หลังจากนั้นยื่นคำขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าว ตามแบบ บต.50 พร้อมแนบเอกสารประกอบการยื่นคำขออนุญาตทำงานตามแบบ อ.4 โดยนายทะเบียนจะออกใบรับคำขออนุญาตทำงาน เพื่อให้คนต่างด้าวใช้ใบรับคำขออนุญาตทำงานและใบเสร็จรับเงินที่ได้จากธนาคารกรุงไทย เป็นหลักฐานคู่กัน แสดงว่าได้รับการผ่อนผันให้ทำงานได้ จนกว่าจะได้รับใบอนุญาตทำงานตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ระยะเวลาดำเนินการ 60 วัน ช่วงที่ 3 วันที่ 16 ส.ค. 2565-13 ก.พ. 2566 คนต่างด้าวใช้ใบรับคำขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าว พร้อมกับใบเสร็จรับเงินค่าธรรมเนียม แสดงต่อเจ้าหน้าที่ เพื่อขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนกับสำนักงานประกันสังคม

กรณีคนต่างด้าวที่ทำงานกับนายจ้างในกิจการที่ต้องขึ้นทะเบียนประกันสังคม ในระหว่างที่ยังไม่เกิดสิทธิประกันสังคมต้องซื้อประกันสุขภาพกับกระทรวงสาธารณสุข หรือซื้อประกันสุขภาพกับบริษัทประกันภัยเอกชน ซึ่งต้องได้รับสิทธิประโยชน์ไม่น้อยกว่าสิทธิประโยชน์ที่ได้รับจากการทำประกันสุขภาพกับกระทรวงสาธารณสุข

กรณีคนต่างด้าวทำงานกับนายจ้างในกิจการซึ่งได้รับการยกเว้นไม่ต้องขึ้นทะเบียนประกันสังคม จะต้องซื้อประกันสุขภาพกับกระทรวงสาธารณสุข และนำหลักฐานการทำประกันสุขภาพของคนต่างด้าวมายื่นต่อนายทะเบียน เพื่อรับการพิจารณาอนุญาตให้ทำงาน นำคนต่างด้าวไปดำเนินการจัดเก็บข้อมูลอัตลักษณ์บุคคล ตรวจสุขภาพ 6 โรค ยื่นเอกสาร/พิจารณาอนุมัติในระบบ จัดทำหรือปรับปรุงทะเบียนประวัติ

นายไพโรจน์ กล่าวต่อว่า เมื่อดำเนินการเสร็จสิ้นได้รับอนุญาตทำงานถึงวันที่ 13 ก.พ. 2566 แล้ว หากประสงค์จะทำงานต่อไป ต้องยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตทำงานก่อนที่ใบอนุญาตทำงานจะสิ้นอายุ และยื่นขอตรวจลงตรา VISA ภายใน 13 ก.พ 2566 เพื่อนายทะเบียนจะอนุญาตให้ทำงานคราวละ 1 ปี รวม 2 ครั้ง ครั้งแรกไม่เกิน 13 ก.พ. 67 ครั้งที่ 2 ไม่เกิน 13 ก.พ. 68

ทั้งนี้นายจ้าง/สถานประกอบการ และแรงงานต่างด้าว ที่ต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694.