เมื่อวันที่ 14 ส.ค. นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ประธานยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนนโยบายพรรคเสรีรวมไทย ในฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. (ฉบับที่…) พ.ศ…. รัฐสภา กล่าวถึงการนัดประชุมร่วมรัฐสภา วันที่ 15 ส.ค.ซึ่งเป็นครั้งสุดท้ายของ ร่างพ.ร.ป.เลือกตั้งส.ส. ก่อนจะครบกำหนดระยะเวลา 180 วันในเวลาเที่ยงคืนวันที่ 15 ส.ค.ว่า มีประเด็นต้องจับตาว่าการประชุมนัดดังกล่าวจะสามารถดำเนินการประชุมได้หรือไม่หรือจะล่มเหมือนทุกครั้งและหากดำเนินการได้ การลงติในวาระสามจะเป็นเช่นไร

อย่างไรก็ตามในทิศทางยอมรับว่า ส.ส.พรรคเพื่อไทย คงยืนยันในวิธีการที่ไม่แสดงตนร่วมเป็นองค์ประชุมขณะที่พรรคการเมืองอื่นๆ โดยเฉพาะพรรคร่วมรัฐบาล อาทิ พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ ยืนยันจะร่วมประชุมเต็มที่ ดังนั้นคงเหลือเพียงพรรคพลังประชารัฐเท่านั้นว่าจะมีจุดยืนอย่างไร

“ผมฟังจากการสัมภาษณ์ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่พูดกับลูกพรรคให้ร่วมประชุม แปรความหมายได้ว่าให้ ส.ส.เข้าร่วมประชุม ซึ่งในวันที่ 10 ส.ค.นี้ ที่ ส.ส.พลังประชารัฐไม่ร่วมประชุมอ้างสาเหตุถึงการไปร่วมงานกำนัน ผู้ใหญ่บ้านที่ต่างจังหวัด ไม่ใช่เพราะเงื่อนไขทางกฎหมาย ดังนั้นการประชุมรอบนี้ไม่มีสาเหตุที่อ้างไม่ว่าไม่เข้าประชุมอีก ดังนั้นผมมั่นใจว่า หาก ส.ส.พลังประชารัฐเข้าประชุมองค์ประชุมต้องครบและเดินหน้าได้ แต่หากยังมีปัญหาอีก แสดงว่าคำพูดของพล.อ.ประวิตร ไม่มีความหมาย ไม่สมควรเป็นหัวหน้าพรรคต่อไป” นายสมชัย กล่าว

นายสมชัย กล่าวด้วยว่า ขณะที่ ส.ว. หากพบว่าขาดประชุมต้องรับผิดชอบพอสมควร อย่างไรก็ดีตนเห็นความพยายามของนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาที่ต้องการให้รัฐสภา ทำหน้าที่อย่างถึงที่สุดไม่ให้เป็นที่ติฉินของประชาชนว่า รัฐสภาไม่ทำงาน ปล่อยกฎหมายตกไป

เมื่อถามว่า เหตุการณ์รัฐสภาล่มตอนโหวตมาตราร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ทั้งที่ก่อนหน้าแสดงตนด้วยการขานชื่อมาครบ สะท้อนจุดยืนของสมาชิกรัฐสภาที่ไม่เอาสูตรหาร 500 ได้หรือไม่ นายสมชัย กล่าวว่า ตนไม่คิดว่าเป็นเช่นนั้น เพราะการตรวจสอบองค์ประชุมด้วยการขานชื่อทำให้จังหวะพิจารณาเสียไป หากประธานที่ประชุมขณะนั้นเฉลียวให้ประชุมต่อไม่ขานชื่อ การประชุมจะดำเนินต่อไปได้ แต่เมื่อให้ขานชื่อทำให้เวลาเสียไป 2 ชั่วโมงคนที่ขานชื่อแสดงตนลำดับต้นๆ ออกไปทำภารกิจนอกห้องประชุม แต่เมื่อขานชื่อเสร็จให้กดบัตรลงคะแนนทันที ทำให้กลายเป็นข้อขัดข้องทางเทคนิค

“ผมไม่เชื่อว่าจะไม่มีใครเอาสูตรคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อ ด้วยจำนวน 500 คนหาค่าเฉลี่ย เพราะเหตุการณ์เมื่อวันที่ 10 ส.ค. เป็นอุบัติเหตุจากการไม่เฉลียวของคนทำหน้าที่ประธานที่ประชุมขานชื่อเสร็จให้โหวตต่อทันที ทำให้เป็นปัญหา ทั้งที่ควรแจ้งล่วงหน้าว่าเมื่อขานชื่อแล้วจะให้ลงมติ ขอให้เตรียมความพร้อม” นายสมชัย กล่าว

นายสมชัย กล่าวด้วยว่าสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ไม่ว่าจะใช้สูตรหารด้วย 100 คนหรือ 500 คนคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้โดยไม่ขัดรัฐธรรมนูญทั้ง 2 แบบ ดังนั้นเข้าใจว่าจะไม่เป็นปัญหาในชั้น กกต. แต่ในชั้นศาลรัฐธรรมนูญ อาจมีประเด็นที่สามารถชี้ได้ว่า ทั้ง 2 กรณีนั้นขัดรัฐธรรมนูญ เพราะมีถ้อยคำของ ส.ส.พึงมีบัญญัติไว้.